จะว่าน่าแปลกหรือน่าขนลุกก็ได้เมื่อนักดาราศาสตร์ได้แปลงสัญญาณบางอย่างที่ได้มาจากยานอวกาศวอยเอเจอร์ วัน (Voyager 1) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือองค์การนาซา ที่ส่งออกไปสำรวจนอกโลกตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 มาจนถึงวันนี้ก็ผ่านไป 44 ปีแล้ว

ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในสหรัฐอเมริกา เผยว่ายานอวกาศวอยเอเจอร์ วัน เดินทางออกจากระบบสุริยะไปเมื่อ 9 ปีก่อน ทว่าเครื่องมือที่ติดตั้งบนยานได้ตรวจพบเสียงครวญประหลาดซ้ำๆไปมาแบบเบาบาง เกิดจากการสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องของก๊าซจำนวนเล็กน้อยที่พบใกล้กับพื้นที่ว่างระหว่างดวงดาว การสั่นสะเทือนนี้เรียกว่าคลื่นพลาสมาที่คงอยู่ต่อเนื่องมานาน ซึ่งตัวกลางระหว่างดวงดาวส่วนใหญ่อยู่ในสถานะที่เรียกว่าไอออนหรือประจุ ไฟฟ้าจะเรียกว่าพลาสมา เมื่อการสั่นของพลาสมาถูกแปลงเป็นสัญญาณเสียง ปรากฏว่าฟังดูแปลกแปร่งแถมน่าสะพรึง ก่อนหน้านั้น ยานวอยเอเจอร์ วัน เคยตรวจพบการรบกวนของก๊าซในอวกาศระหว่างดวงดาวที่เกิดจากแสงวาบของเปลวไฟจากดวงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว การศึกษาใหม่แสดงให้เห็นถึงการสั่นสะเทือนที่สม่ำเสมอซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของแสงอาทิตย์ ทว่าอาจเป็นคุณลักษณะคงที่ในอวกาศระหว่างดวงดาวนั่นเอง และเสียงครวญที่ตรวจจับได้นี้มีความถี่ประมาณ 3 กิโลเฮิรตซ์

ปัจจุบันยานวอยเอเจอร์ วัน อยู่ห่างจากโลกราว 22,700 ล้านกิโลเมตร หรือคิดเป็น 152 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ แม้จะออกไปนอกระบบสุริยะอย่างไม่มีวันหวนคืน กลายเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นและอยู่ห่างไกลที่สุดในอวกาศ แต่ยานยังคงได้รับและส่งข้อมูลกลับมาจนกว่าพลังงานจะหมดลง.


(ภาพประกอบ Credit : NASA / JPL-Caltech)

...