- ตรวจโควิด-19 ถึง 4 ครั้ง โดยรอบสุดท้ายถึงพบผลบวก ...กรณีนี้เป็นไปได้หรือไม่? และกลุ่มเสี่ยงควรตรวจหาเชื้อกี่ครั้ง? ถ้าให้รีบตอบเลยก็ต้องบอกว่า ‘เป็นไปได้’ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงควรตรวจหาเชื้อ ‘2 ครั้ง’
ตรวจโควิด-19 ถึง 4 ครั้ง โดยรอบสุดท้ายถึงพบผลบวก ...จากกรณีที่นักร้องท่านหนึ่งโพสต์ประสบการณ์การตรวจโควิด-19 หลังจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 และระหว่างที่กักตัวได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อถึง 4 ครั้ง ถึงจะพบว่าติดโควิด-19
กรณีนี้เป็นไปได้หรือไม่? และกลุ่มเสี่ยงควรตรวจหาเชื้อกี่ครั้ง? ถ้าให้รีบตอบเลยก็ต้องบอกว่า ‘เป็นไปได้’ เพราะถ้าตรวจเร็วเกินไปอาจยังไม่พบเชื้อ ส่วนถ้าประเมินแล้วว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงควรตรวจหาเชื้อ ‘2 ครั้ง’ คือ ครั้งแรกเมื่อทราบว่ามีความเสี่ยง หากผลเป็นลบ ควรตรวจซ้ำในอีก 7 วัน
กรณีนี้เป็นไปได้หรือไม่
ก่อนอื่นต้องขออธิบายเรื่อง ‘ระยะฟักตัว’ เป็นระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับเชื้อจนถึงวันที่เริ่มมีอาการ ซึ่งโควิด-19 มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 5-6 วัน แต่อาจเร็วได้ถึง 2 วัน และนานที่สุด 14 วัน และอาจนานกว่านี้ เช่น 21 วัน แต่โอกาสน้อยมาก จึงเป็นที่มาของการกักตัวเพื่อสังเกตอาการจนครบ 14 วัน
ส่วนนักร้องท่านนี้ เมื่อเรียบเรียงไทม์ไลน์จากโพสต์ดังกล่าว จะได้ว่า
- 2 เมษายน ร้องเพลงที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ
- 3 เมษายน (วันที่ 1) ตรวจหาเชื้อครั้งแรก
- 5 เมษายน (วันที่ 3) ตรวจครั้งที่ 2
- 8 เมษายน (วันที่ 6) ตรวจครั้งที่ 3 ผลเป็นลบ จึงได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรก
- 12 เมษายน (วันที่ 10) เริ่มมีอาการไม่ได้กลิ่น
- 13 เมษายน (วันที่ 11) ตรวจครั้งที่ 4
- 15 เมษายน ทราบผลว่าเป็นบวก
...
ในวงเล็บคือจำนวนวันนับจากวันที่สัมผัสโรคครั้งสุดท้าย ดังนั้น การตรวจพบผลบวกในครั้งที่ 4 จึงเป็นไปได้ เพราะยังอยู่ในช่วงระยะฟักตัว 2-14 วัน โดยเป็นผลการตรวจในวันที่ 11 และสังเกตว่าผู้ป่วยเริ่มมีอาการมาก่อนหน้านั้น 1 วัน ทำให้มีโอกาสตรวจพบเชื้อมากขึ้น
ส่วนการตรวจ 2 ครั้งแรกถือว่าเร็วไป ในขณะที่การตรวจครั้งที่ 3 ซึ่งถือเป็นวันที่ 6 หลังสัมผัสโรค ตามสถิติแล้ววันนี้จะตรวจพบผู้ป่วยประมาณ 50% ของผู้ป่วยทั้งหมด (หมายถึง ถ้าผู้ป่วย 10 รายได้รับเชื้อพร้อมกัน ณ วันที่ 6 จะมี 5 รายที่มีอาการ) ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่จะยังไม่มีอาการ
กรณีนักร้องท่านนี้แสดงให้เห็นว่า (1) ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน ถึงแม้ผลตรวจจะเป็นลบ (2) ผลการตรวจเป็นลบแปลผลว่าไม่พบเชื้อ ‘เฉพาะ’ ในวันที่ตรวจ ซึ่งภายหลังอาจตรวจพบเชื้อก็ได้ (3) การตรวจถึง 4 ครั้งถึงจะพบเชื้อ เป็นกรณีที่เป็นไปได้ ขึ้นกับช่วงเวลาในการตรวจแต่ละครั้ง
กลุ่มเสี่ยงควรตรวจหาเชื้อกี่ครั้ง
กรณีนักร้องท่านนี้เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับ ‘การตรวจหาเชื้อซ้ำ’ แต่อาจไม่ดีนักสำหรับ ‘การตรวจหาเชื้อบ่อย’ น่าจะเป็นเพราะความกังวล และแพทย์ที่ฉีดวัคซีนต้องการให้ตรวจยืนยันว่าไม่พบเชื้อ แต่ถ้าตรวจเร็วไปก็อาจไม่พบเชื้อ (ถ้าติดเชื้อจริงแล้วไม่มีอาการ ส่วนใหญ่หายได้เอง)
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2564 กรมควบคุมโรคได้ปรับปรุงแนวทางสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดใหม่ โดยกำหนดให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง คือ
- ครั้งที่ 1 เมื่อทราบว่ามีความเสี่ยง เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และอาจได้รับเชื้อมาระยะหนึ่งแล้ว การตรวจเร็วจะทำให้แยกผู้ติดเชื้ออกมาได้เร็วขึ้น (Early isolation)
- ครั้งที่ 2 นับไปอีก 7 วัน หรือวันที่ 13 หลังสัมผัสโรค ขึ้นกับว่าถึงวันไหนก่อน เช่น ถ้าตรวจครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 5 + 7 = วันที่ 12 จะนัดตรวจอีกครั้งในวันที่ 12 เพราะถึงก่อนวันที่ 13
แนวทางใหม่นี้ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยควบคุมการระบาดของสายพันธ์ุใหม่ได้ เพราะทำให้ผู้สัมผัสเข้าถึงการตรวจมากขึ้น และการแยกตัวเร็วขึ้น แต่ก็แลกมาด้วยการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น (สังเกตว่ากรณีนักร้องท่านนี้ต้องรอผลการตรวจนานถึง 2 วัน เพราะเกิด ‘คอขวด’ ที่ห้องแล็บ)
ทั้งนี้ การตรวจหาเชื้อในผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็นส่วนหนึ่งของการติดตามผู้สัมผัส (Contract Tracing) ในทางหลักการแล้วทีมสอบสวนโรคจะต้องเป็นผู้เก็บตัวอย่าง หากนัดให้ไปที่โรงพยาบาลก็ควรมีช่องทางพิเศษให้กับผู้สัมผัส และไม่เสียค่าใช้จ่าย เหมาะสำหรับจังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อไม่มาก
แต่ในจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก อย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทีมสอบสวนโรคอาจทำได้ไม่ครอบคลุม และผู้สัมผัสจะต้องเข้าไปขอรับการตรวจที่โรงพยาบาลเอง
ข้อควรระวังในการแปลผลการตรวจที่พบผลบวกในวันท้ายๆ คือ ผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่งตรวจเจอเชื้อในวันนั้นๆ เสมอไป สมมติผู้ติดเชื้อตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ในวันที่ 5 ผลเป็นลบ และ 12 ผลเป็นบวก แต่ผู้ติดเชื้ออาจเริ่มตรวจพบเชื้อได้มาตั้งแต่วันที่ 6-11 แล้วก็ได้ เพียงแต่ไม่ได้ตรวจหาเชื้อทุกวัน
สุดท้าย ผมขอพูดถึง ชุดตรวจแบบรวดเร็ว (Rapid test) สั้นๆ เนื่องจากการรอตรวจที่โรงพยาบาลและรอผลใช้เวลานาน จึงมีการนำเอาชุดตรวจแบบรวดเร็วมาใช้ ซึ่งมีทั้งตรวจเชื้อ (Antigen) และตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไม่แนะนำให้ใช้ในการวินิจฉัย
เพราะการตรวจ ‘ภูมิคุ้มกัน’ จะตรวจพบก็ต่อเมื่อติดเชื้อไปแล้วเกิน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งมักจะหายจากโรค และพ้นระยะแพร่เชื้อไปแล้ว ส่วนการตรวจ ‘เชื้อ’ แบบรวดเร็วไม่เหมาะกับกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่มีอาการ เพราะถ้าติดเชื้อแล้ว ปริมาณเชื้อจะยังน้อยทำให้เกิดผลลบ และเข้าใจผิดว่าไม่ติดเชื้อได้.
...
อ้างอิง: