คลื่นวิทยุมีอยู่ทุกหนทุกแห่งตลอดเวลา การจะแปลงพลังงานที่อยู่รอบตัวเราเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ไม่สูญเปล่าจึงเป็นเรื่องน่าคิดและท้าทาย ล่าสุด ทีมนักวิจัยนานาชาตินำโดย ศ.หวนหยู่ “แลร์รี่” เฉิง จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียหรือเพนน์สเตต ในสหรัฐอเมริกา รายงานว่าได้ก้าวข้ามความท้าทายนี้มาแล้ว

นักวิจัยอธิบายว่าแหล่งพลังงานในปัจจุบันสำหรับอุปกรณ์ตรวจสอบสุขภาพที่สวมใส่ได้หรือที่เรียกว่าแวร์เอเบิล (wearable device) ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ในการเปิดเครื่องตรวจวัดหรือตัวเซ็นเซอร์ บางแห่งนั้นพลังงานแสงอาทิตย์เข้าไม่ถึง การจะเก็บเกี่ยวพลังงานได้ก็ต่อเมื่อสัมผัสกับแสงแดด หรือบางอุปกรณ์ก็เก็บเกี่ยวพลังงานได้เมื่อร่างกายเคลื่อนไหวเท่านั้น นักวิจัยจึงพัฒนาเสาอากาศแบบยืดได้และระบบเสาอากาศจัดเรียงกระแส (rectenna) ที่เก็บเกี่ยวพลังงานจากคลื่นวิทยุในสภาพแวดล้อมโดยรอบให้พลังงานนั้นมาเก็บกักอยู่ในอุปกรณ์สวมใส่

เสาอากาศจัดเรียงกระแสสามารถแปลงคลื่นวิทยุหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากสภาพแวดล้อมโดยรอบเป็นพลังงานเพื่อขับเคลื่อนโมดูลการตรวจจับบนอุปกรณ์สวมใส่ ให้ติดตามอุณหภูมิความชื้น ระดับออกซิเจน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับระบบอื่นก็อาจจะผลิตพลังงานได้น้อยกว่า แต่ระบบที่คิดค้นใหม่นี้สามารถสร้างพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง และนี่คือข้อได้เปรียบที่สำคัญ.


(ภาพประกอบ Credit : Larry Cheng, Penn State)