“เสมาหิน”...บ้านบุ่งผักก้ามถูกค้นพบที่วัดพัทธสีมาราม บ้านบุ่งผักก้าม หลัง โรงพยาบาลวังสะพุง อ.วังสะพุง จังหวัดเลย เป็นเสมาหินที่มีการกำหนดอายุโดยวิธีทางโบราณคดี โดยใช้วิธีเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์ และศิลปะโดยศึกษาจากศิลปะโบราณวัตถุ
ซึ่งสถานที่แห่งนี้นั้นมีลักษณะรูปแบบลวดลายใกล้เคียงกันและเปรียบเทียบกับศิลปะโบราณวัตถุจากประเทศใกล้เคียง อีกทั้งเทียบเคียงอ้างอิงจากคัมภีร์ที่ให้อิทธิพลการกำหนดรูปแบบสลักบนใบเสมา
จึง...กำหนดอายุได้ว่า สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 13-16 มีอายุไม่ต่ำกว่า 900-1,200 ปี เป็นแบบ... “ศิลปะทวารวดี”
น่าสนใจว่า... “เสมาหิน” ที่พบมีทั้งสภาพสมบูรณ์และชำรุดปักรวมกันอยู่ในบริเวณวัดพัทธสีมาราม ส่วนใหญ่เป็นหินทรายสีขาว บางใบเป็นหินทรายสีแดงมีขนาดใหญ่เล็กปะปนกัน ตรงกลางมีลวดลายรูปสถูปเจดีย์ประดับอยู่เกือบทุกใบ
อีกทั้งบางใบเป็นหม้อ “ปูรณฆฏะ” ประกอบลายพันธุ์พฤกษา
...
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ใบเสมาทั้งหมดสามารถจำแนกได้เป็น 9 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีรูปทรงใกล้เคียงหินธรรมชาติ กลุ่มที่สลักเป็นแผ่นเรียบมีรูปร่างค่อนข้างแน่นอน กลุ่มที่สลักเป็นหม้อปูรณฆฏะมีสถูปตอนบน
กลุ่มที่สลักเป็นหม้อปูรณฆฏะสถูปตอนบนประกอบลายพันธุ์พฤกษา กลุ่มที่สลักเป็นหม้อปูรณฆฏะ 2 ชั้น 3 ชั้น ประกอบลายพันธุ์พฤกษา กลุ่มใบเสมาที่เป็นเสาแปดเหลี่ยมฐานบัวปลายสอบเข้าหากัน จำนวน 1 ใบ และใบเสมาที่มีอักษรประกอบ 1 ใบ
หลักฐานที่พบใบเสมาปักรวมกันอยู่ที่คูน้ำคันดิน ในบริเวณวัดพัทธสีมาราม มีทั้งสภาพสมบูรณ์และชำรุดนับได้ 40 ใบ และใบเสมา 1 ใบ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลยได้ทำสำเนาจารึกไว้พบว่าเป็นอักษรอินเดียใต้ (อักษรปัลลวะ) จำนวน 12 บรรทัด ตัวอักษรลบเลือนอ่านได้เป็นบางคำ
ลักษณะอักษรรูปแบบนี้สันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบอักษรช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-16
O O O
เปิดบันทึกประวัติ “เสมาหิน” ข้างต้นเหล่านี้ถูกรวบรวมเพื่อมาเป็นพิพิธภัณฑ์เสมาหินทรายที่สมบูรณ์แบบนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2506 นายเทดเกษ ทองมา ผู้ใหญ่บ้านปากเป่ง (บ้านบุ่งผักก้าม) ได้เดินเท้าผ่านป่าบริเวณเนินดินที่ทำไร่ พบใบเสมาจึงได้แจ้งไปยังศึกษาธิการอำเภอวังสะพุงทราบ
กระทั่งในปี 2523 กรมศิลปากรได้ส่งคณะมาสำรวจกลุ่มใบเสมาหินทราย ได้ระบุว่า พบศิลาจารึกอักษรลบเลือนมากไม่สามารถอ่านได้ และในปี 2524 นายสมชาติ มณีโชติ ได้นำมารวบรวมข้อมูลไว้
ต่อมาในปี 2529 ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเลย สถาบันราชภัฏเลย จึงมาสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม แต่อักษรจารึกลบเลือนมาก อ่านได้เพียงบางคำ เช่น มีคำว่า...“ศรี” “มารคด”
“ใบเสมา” มีความเชื่อศรัทธาที่เกี่ยวโยงกับพุทธศาสนา เชื่อมโยงกับศาสนาผีมาแต่โบราณ ถูกนำมาใช้วงรอบเป็นเขตขอบกั้นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของผี ที่ถูกซ้อนทับด้วยพุทธสถานอีกทอดหนึ่ง
...
เสมอเหมือน “ใบเสมา” นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัว เป็นสัญลักษณ์ของ “เจ้าที่” ของพระอุโบสถทำหน้าที่กั้นเขตแดนระหว่าง “โลกศักดิ์สิทธิ์” กับ “โลกสาธารณะ” ไว้...เขตแดนใบเสมาแสดงถึงอาณาเขต พื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกค้นพบเชื่อมโยงกับศรัทธาและความเชื่อที่มีสืบมาแต่โบราณนานมาแล้ว
อีกทั้งยังส่งต่อศรัทธามาถึงยุคปัจจุบันสะท้อนให้เห็น ไม่ว่าจะผ่านวันเวลา ยุคสมัยมานานนับพันปีแล้วก็ตาม “ใบเสมา” แผ่นหินนั้นยังมีความสมบูรณ์สะท้อนศรัทธาอันยิ่งใหญ่ไม่เสื่อมคลาย
O O O
“ใบเสมา” ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง นอกจากเป็นประติมากรรมหินสลักที่ใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนา กำหนดเขตบริเวณศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ประกอบพิธีกรรม
...เพื่อเป็นตัวแทนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับเคารพบูชา ทำหน้าที่คล้ายสถูปเจดีย์หรือพระพุทธรูปเพื่อให้ผู้คนได้มากราบไหว้บูชาแล้ว จากการศึกษาค้นคว้ายังพบว่ามีการสร้างอย่างแพร่หลายมากโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย...การปักใบเสมาอาจจะกล่าวได้ว่ามีความสืบเนื่องมาจากคติความเชื่อจากประเพณีปักหินตั้ง เชื่อเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษของชนพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชีย-อาคเนย์
...
ลักษณะการปักจะเป็นแบบหลักเดียว เพื่อแสดงเขต ตำแหน่งบริเวณพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจดีย์ พระธาตุ อุโบสถ ซึ่งพบว่ามีการปักล้อมรอบเนินดิน...รอบพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยไม่มีการกำหนดทิศทาง
หากแต่ปักประจำทิศ...นับตั้งแต่ปัก 4 ทิศ ไปจนถึง 16 ทิศ
น่าสนใจด้วยว่ารูปลักษณะใบเสมาที่พบนั้นจะเป็นแท่งหินขนาดใหญ่ แบบเรียบอาจเป็นลักษณะธรรมชาติ หรือแผ่นหินที่ไม่มีการโกลนให้เป็นรูปร่างแบบแผ่นดินที่มีการถากให้เป็น แผ่น...เป็นแท่งเสา ที่ทำให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม แปดเหลี่ยมแตกต่างกันออกไป พร้อมตกแต่งลวดลายด้วยการแกะสลัก
ลวดลายที่ค้นพบ แกะสลักภาพเล่าเรื่องทางพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ ชาดกตอนสำคัญ...ธรรมจักร...สัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาเพื่อแสดงให้เห็นประจักษ์ว่า “พุทธศาสนา” ได้เผยแผ่มายังดินแดนแห่งนี้แล้ว
สำหรับบางใบก็เป็นการแกะสลักสันนูนทางสามเหลี่ยมคล้ายสถูป...สัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า บางใบก็แกะเป็นหม้อน้ำศักดิ์สิทธิ์ หรือที่เรียกว่า...“หม้อปูรณฆฏะ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคเอเชียใต้ ปรากฏให้เห็นเป็นงานศิลป์ของศาสนาฮินดู เชื่อว่า... “พระเป็นเจ้า” จะดลบันดาลให้เจ้าของประสบความสำเร็จสมดังปรารถนา บันดาลสมบัติ
ทั้งปวงให้
“ศรัทธา”...นำมาซึ่งปาฏิหาริย์? เชื่อไม่เชื่อโปรดอย่าได้...“ลบหลู่”.
รัก-ยม