ใครจะไปนึกถึงว่าจะมีงานนิทรรศการภาพถ่าย ที่ภาพทุกภาพถูกนำเสนอออกมาเป็น “โทนสีฟ้า” นี่คือ แรงดึงดูดใจเราอย่างมาก จนชวนให้เราอยากค้นหาต่อไปว่า ผู้ลั่นชัตเตอร์คนนี้ กำลังอยากเล่าอะไร

Shade of Blue คือชื่อของนิทรรศการนี้ โดยเป็นผลงานของ พัฒน์ เสถียรถิระกุล ศิลปินที่เคยไปลับฝีมือที่ Academy of Art University ที่ซานฟรานซิสโก จนทำให้ตกผลึกทางความคิด กลายเป็นงานภาพถ่าย Landscape จนเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้เกิดงาน Shade of Blue ที่เรากำลังได้รับชมอยู่นี้

พัฒน์ เล่าให้ฟังว่า “เวลาที่เราไปถ่ายภาพ Landscape ตามสถานที่ต่างๆ มันใช้เวลาเยอะมาก อาจจะเป็น 2 อาทิตย์ หรือเป็นเดือนก็มี ซึ่งมันทำให้เกิดความรู้สึกแบบที่ฝรั่งชอบพูดกันว่า ‘I feel blue’ ที่ชวนคิดถึงอะไรบางอย่าง เช่น บ้าน”

ขณะเดียวกัน ในลักษณะของ Blue มันคล้ายกับโปรเซส (Process) ที่ใช้ในการถ่ายภาพที่เป็นโทนฟ้าๆ ก็เลยเกิดเป็นเนื้อเรื่องของ Shade of Blue

“ความรู้สึกที่คิดถึงอะไรสักอย่างมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ครั้งเดียว เมื่อยิ่งเดินทาง ก็ยิ่งเก็บความรู้สึกแต่ละครั้งมากขึ้นๆ”

ภาพถ่ายของพัฒน์ใน Shade of Blue ขณะที่กำลังเลือกโปรเซส โดยเริ่มจากแสดงสิ่งที่เป็นมากกว่าภาพถ่ายธรรมดาๆ หรือโปรเซสการอัดภาพ เลยพยายามเลือกหาโปรเซสที่เหมาะสมที่สุด

“พอมันเป็นสีฟ้า นอกจากความรู้สึกที่ ‘เศร้าและคิดถึง’ มันก็เป็นเรื่องของ Subject บางภาพในนิทรรศการก็เป็นภาพ Landscape บางอันก็เป็นน้ำแข็ง น้ำ ต้นไม้ ผมพยายามให้ทุกภาพกลับมาที่ต้นทางซึ่งเป็น ‘สีฟ้า’ ให้มากที่สุด”

...

พัฒน์ อธิบายเสริมว่า เมื่อเวลาที่คนเราคิดถึงสีฟ้า ก็ต้องย่อมคิดถึงน้ำ คิดถึงทะเล คิดถึงก้อนหิน ทั้งหมดนี้เป็นสีโทนเย็น มันเลยเกิดเป็นความเหมาะสมกันของงาน

“ความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง คือ คนทั่วไปไม่ค่อยหยิบสีฟ้ามาใช้กับงาน นี่คือสิ่งที่ผมอยากทำให้ดูว่า ‘มันทำได้นะ’ งานสีฟ้าก็สามารถเป็นงานระดับนิทรรศการได้” พัฒน์ อธิบายต่อไปว่า “ปกติแล้วงานของผม เป็นงานภาพถ่ายขาวดำ แต่ครั้งนี้อยากลองทำงานที่แตกต่างจากปกติบ้าง”

หลังจากที่เพ่งพินิจดูงาน Shade of Blue ของพัฒน์ เราจึงเกิดความสงสัยว่าอะไรเป็นขุมทรัพย์ที่เปรียบเสมือนบ่อน้ำที่เป็นภาชนะในการกักเก็บแรงบันดาลใจของศิลปินผู้นี้

พัฒน์ อธิบายอย่างเรียบง่ายว่า เป็นเรื่องของเวลาและความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน รวมถึงงานหลายๆ งานที่หลอมรวมเข้าด้วยกัน โดยตอนนี้เขาจัดนิทรรศการต่อเนื่องทุกปี ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 6

“ในงานนิทรรศการแต่ละงาน ผมมีความเข้มงวดในงานตัวเอง ทุกงานจะมีแนวคิด มีคอนเซปต์ ไม่มีงานนั่งเทียน ทุกงานมาจากการเก็บสะสมของงานแต่ละครั้ง ซึ่ง Shade of Blue ก็มาจากการสะสมจากประสบการณ์ของงานที่เคยจัดในครั้งก่อนๆ นั่นเอง”

ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้ชมอย่างเรา ก็อยากทราบเช่นกันว่าในฐานะเจ้าของงานนิทรรศการ Sahde of Blue เขาอยากให้ผู้ชมได้อะไรกลับไป หลังรับชมทุกภาพถ่ายที่อัดแน่นในนิทรรศการนี้

“คงไม่มีอะไรมาก นอกจากให้ผู้ที่มารับชมงาน ‘สนุก’ ไปกับทุกภาพถ่ายที่ผมถ่ายทอดออกมา อีกอย่างหนึ่ง คือ งานทุกชิ้นที่จัดแสดงก็ไม่ได้ตั้งราคาค่างวดที่แพงอะไร ไม่ได้เน้นขายของหาเงินเข้ากระเป๋า ใครอยากบริจาคเท่าไรก็แล้วแต่ศรัทธา อยากใส่ซองเท่าไรก็ใส่ เงินที่ได้ก็เอาไปทำบุญปีใหม่ครับ”

ก่อนที่จะสิ้นสุดบทสนทนา เราได้ชวนพัฒน์ พูดถึงปัญหาของวงการศิลปะในประเทศไทย จากมุมมองของตัวศิลปิน มันมีอะไรบ้าง

“มันเป็นเรื่องตลกนะ” พัฒน์ เกริ่นเอาไว้อย่างน่าสนใจ “ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ Gallery ไม่มีการคุยกัน ถ้าไม่ได้คุยกัน คุณก็ไม่สามารถนำเสนองานของศิลปินได้”

พัฒน์ ยกตัวอย่างว่า ถ้าคุณอยากซื้องานของศิลปินคนนี้ คุณจะต้องมาที่ Gallery นี้ เพราะเขาเป็นตัวแทนของศิลปินคนที่คุณต้องการ โดยที่ผู้ดูแล Gallery ก็จะมีรายชื่อลูกค้าในมือ เพื่อให้แมตช์ความต้องการของลูกค้าและงานของศิลปินก็สามารถขายออกไปได้

“สิ่งที่ผมยกตัวอย่างไป ในไทยมันไม่มีเลย ทั้งที่ในปัจจุบันการทำเว็บไซต์เพื่อลงผลงานศิลปิน ก็ไม่ได้เป็นทุนที่สูงอะไรมากนัก ที่จริงมันเป็นโอกาสในการสร้างชุมชน (Community) ด้วยซ้ำไป ซึ่งสิ่งนี้แตกต่างกับในต่างประเทศ"

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงในประเทศไทยเคยมีความพยายามที่จะรวมตัวกันของศิลปินเพื่อขายงาน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ศิลปินทำได้ในตอนนี้ ก็คือ ทำงานออกมาแล้วลองส่งไปยัง Gallery จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับช่องทางของ Gallery ว่าจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน

สุดท้ายสิ่งที่พัฒน์คาดหวังลึกๆ ก็คือ อยากให้มีนิทรรศการภาพถ่ายมากขึ้น เพราะในเดือนหนึ่งๆ มีนิทรรศการภาพถ่ายประมาณ 2 งานต่อเดือนเท่านั้น

“ผมอยากสร้างโอกาส ให้เกิดการพบปะเพื่อนใหม่ของสังคมวงการศิลปะภาพถ่ายครับ”

...

ใบปิดนิทรรศการภาพถ่าย Shade of Blue
ใบปิดนิทรรศการภาพถ่าย Shade of Blue

นิทรรศการภาพถ่าย Shade of Blue ผลงานโดย พัฒน์ เสถียรถิระกุล จัดแสดงระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม ที่ร้านโมโนโครม (Monochrome) วันธรรมดา 07:30-16.00 น. วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ 09.30-17.30 น. และในวันที่ 26 ธันวาคม จะมี Artist Talk เวลา 13.00 น.

ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensuksakul
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan