ลูกใช้นามสกุลใคร เมื่อพ่อไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร เป็นคำถามหนึ่งในครอบครัว เมื่อเด็กเกิดนอกสมรส สถานะท้องไม่พร้อม ผู้หญิงถูกข่มขืน รวมถึงปัญหาท้องไม่รับ แต่เมื่อเด็กเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องแจ้งเกิดภายใน 15 วัน เพื่อให้เด็กได้สิทธิตามสัญชาติ อาทิ สิทธิรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน, สิทธิย้ายเข้าทะเบียนบ้าน, การเข้าโรงเรียน และเกณฑ์ทหารในอนาคต

เด็กทารกเป็นวัยที่ไร้เดียงสา และต้องได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโต ซึ่งการดูแลนี้อาจจะไม่ได้มาจากครอบครัวที่พร้อมหน้าพร้อมตาเสมอไป ในกรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หรือไม่สามารถระบุชื่อบิดาลงในใบเกิดของเด็กได้ ตามกฎหมายจะระบุว่าเด็กเป็นบุตรที่ชอบโดยกฎหมายของมารดาเพียงฝ่ายเดียว

ดังนั้นในการแจ้งเกิด ตามกฎหมายสามารถเว้นว่างชื่อบิดาไว้ก่อนได้ และสามารถเพิ่มชื่อภายหลัง

แม่เลี้ยงเดี่ยว แจ้งเกิดประสงค์ไม่ระบุชื่อบิดา

เมื่อคุณแม่ต้องการแจ้งเกิดโดยประสงค์ไม่ระบุชื่อบิดาในใบเกิดของลูก จะต้องใช้เอกสารคือสำเนาบัตรประชาชนของคุณแม่ ระบุว่า “ขอยืนยันว่าไม่ระบุชื่อบิดาในการแจ้งเกิด” หลังจากนั้นจึงนำชื่อเด็กไปย้ายเข้าทะเบียนบ้าน

...

เมื่อไม่ระบุชื่อบิดา เด็กจึงต้องใช้นามสกุลของมารดา

แต่หากภายหลังต้องการระบุชื่อบิดา ทางเจ้าหน้าที่จะร้องขอเอกสารการตรวจ DNA จากสถาบันที่เชื่อถือได้มาประกอบ หรือขอเอกสารคำพิพากษาจากศาลที่ระบุให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรได้

ไม่ได้จดทะเบียนสมรส พ่อต้องจดทะเบียนรับรองบุตร

บางครอบครัวตกลงอยู่ร่วมกันโดยบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้นสิ่งที่ทำให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคุณพ่อและคุณแม่ก็คือการจดทะเบียนรับรองบุตร 

กรณีลูกเกิดมาในครอบครัวที่พ่อและแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน พ่อต้องจดทะเบียนรับรองบุตร ลูกจึงจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของพ่อ แต่หากไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร ลูกก็จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของแม่เพียงฝ่ายเดียว

ลูกใช้นามสกุลใคร

ในกรณีที่ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ และคลอดบุตร แต่ไม่มีผู้รับรองเป็นบิดาของบุตร สามารถแจ้งเกิดโดยไม่ระบุชื่อบิดาไว้ และให้เด็กใช้นามสกุลของแม่ได้ และการแจ้งเกิดก็ต้องทำภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่เด็กเกิด หากเกินตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนี้ ก็ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

เพราะฉะนั้นในใบสูติบัตรก็จะเว้นว่างไว้ ไม่ปรากฏชื่อบิดา

แต่ในอนาคต สามารถจดทะเบียนรับรองบุตร เพื่อเพิ่มชื่อบิดาได้ แต่ต้องเป็นบิดาที่แท้จริงเท่านั้น

หากใช้ชื่อผู้อื่นเป็นบิดาเพื่อแก้ชื่อบิดาในสูติบัตร (ใบเกิด) ภายหลัง นายทะเบียนจะแก้ไขรายการไม่ได้ และจะดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้แจ้งเกิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน และยกเลิกสูติบัตรฉบับนั้น แล้วแจ้งให้ผู้ที่มีหน้าที่แจ้งเกิดไปแจ้งเกิดใหม่ต่อนายทะเบียน (ที่มา แก้ไขชื่อบิดา)

วิธีการจดทะเบียนรับรองบุตร

การจดทะเบียนรับรองบุตรนั้น บิดาเป็นผู้ยื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียน กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต โดยใช้พยาน 2 คน และเอกสาร 3 อย่าง ได้แก่

1. บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา มารดา
2. สูติบัตรของบุตร
3. สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านของบิดา มารดา และบุตร

โดยสรุปแล้วเมื่อการตั้งครรภ์เกิดขึ้น หากไม่สามารถใส่ชื่อบิดาในใบเกิดไว้ ก็เว้นว่างไว้ดีกว่าหาชื่อคนอื่นมาใส่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีว่าแจ้งความเท็จได้ในภายหลัง  

จดทะเบียนรับรองบุตรภายหลังแจ้งเกิด

...

การจดทะเบียนรับรองบุตรภายหลังจากการแจ้งเกิดนั้นทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากมารดา และเด็ก เมื่อเด็กยังเป็นผู้เยาว์ไร้เดียงสา ยังตัดสินใจด้วยตัวเองไม่ได้ว่ายินยอมหรือไม่ ต้องยื่นร้องต่อศาลให้มีคำพิพากษาให้บิดาจดทะเบียนรับรองบุตรไปแสดง


ที่มา : bora.dopa.go.th