
เมื่อ 33 ปีที่แล้วนักดาราศาสตร์ตรวจพบเหตุการณ์ซุปเปอร์โนวาในเมฆแมกเจลแลนใหญ่ (Large Magellanic Cloud) ที่เป็นกาแล็กซีใกล้เคียงที่สุดของกาแล็กซีทางช้างเผือก อยู่ห่างออกไป 168,000 ปีแสง ซุปเปอร์โนวาแห่งนี้มีชื่อว่า 1987A หรือ (SN 1987A) ถือเป็นซุปเปอร์โนวาที่มีการสำรวจมากที่สุดแห่งหนึ่ง
แต่หลังจากค้นหามานานหลายทศวรรษ ในที่สุดนักดาราศาสตร์มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ในเวลส์ และนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอกระบบของเม็กซิโก ก็ได้ค้นพบแกนกลางที่ยุบตัวของซุปเปอร์โนวา 1987A เมื่อไม่นานมานี้ จากการสำรวจใหม่ด้วยกล้อง โทรทรรศน์วิทยุช่วงคลื่นมิลลิเมตรขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอัลมา (Atacama Large Millimeter/submillimeter Array-ALMA) ซึ่งการศึกษาเชิงทฤษฎีได้ให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ว่าดาวนิวตรอนน่าจะซ่อนอยู่ลึกเข้าไปในซากระเบิดของดวงดาว และนี่ดูจะเป็นดาวนิวตรอนที่อายุน้อยที่สุด

ทีมเผยว่ามีความประหลาดใจมากที่เห็นหยดฝุ่นเกิดจากฝุ่นละอองหนาแน่นในซุปเปอร์โนวา แสดงว่าต้องมีบางสิ่งในเมฆที่ทำให้ฝุ่นร้อนขึ้นและทำให้มันส่องแสง นักวิจัยเสนอว่าน่าจะมีดาวนิวตรอนซ่อนตัวอยู่ภายในเมฆฝุ่นนั้นโดยเชื่อว่าดาวนิวตรอนดวงนี้มีความ ยาว 25 กิโลเมตร เหมือนลูกบอลที่มีความหนาแน่นสูงเป็นพิเศษ แต่จะตรงกับที่คาดคะเนหรือไม่ มีเพียงภาพที่แท้จริงของดาวนิวตรอนเท่านั้นที่จะพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าดาวนิวตรอนมีอยู่จริง ซึ่งนักดาราศาสตร์อาจต้องรออีกราวๆ 20-30 ปีจนกว่าฝุ่นก๊าซในซุปเปอร์โนวาจะโปร่งใสมากขึ้น.
(Credit ภาพประกอบ : NRAO/AUI/NSF, B. Saxton)