Credit : ESA/Hubble & NASA, G. Piotto
เมื่อเร็วๆนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา และองค์การอวกาศยุโรป หรืออีเอสเอ รายงานการตรวจจับดวงดาวในดาราจักรหรือกาแล็กซี โดยจับจ้องไปที่กระจุกดาวทรงกลมที่ชื่อ NGC 6441 ซึ่งส่องแสงบนท้องฟ้ายามค่ำคืน
NGC 6441 เป็นกระจุกดาวทรงกลมอายุ 13,000 ล้านปี ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกลุ่มดาวแมงป่อง (Scorpius) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 44,000 ปีแสง และห่างจากใจกลางทางช้างเผือก 13,000 ปีแสง กระจุกดาวดังกล่าวมีลักษณะเหมือนเกล็ดหิมะของจักรวาล นักวิทยาศาสตร์เผยว่าการคำนวณจำนวนดวงดาวที่แน่นอนใน NGC 6441 เป็นเรื่องยากพอสมควร แต่คาดว่าดาวฤกษ์ที่อยู่รวมกันในนั้นมีมวลถึง 1,600,000 เท่าของดวงอาทิตย์ ทำให้ NGC 6441 เป็นหนึ่งในกระจุกดาวทรงกลมที่มีมวลมากที่สุดและส่องสว่างที่สุดในทางช้างเผือก ภาพที่ได้นั้นประกอบขึ้นจากหลายส่วน ถ่ายด้วยกล้องถ่ายภาพสนามกว้าง 3 (Wide Field Camera 3-WFC3) และกล้องสำรวจขั้นสูง (Advanced Camera for Surveys-ACS) ที่ติดตั้งบนกล้องฮับเบิล
ทั้งนี้ ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรานั้น มีกระจุกดาวทรงกลมที่พบอยู่ราวๆ 150 แห่ง แต่รายละเอียดของต้นกำเนิดรวมถึงวิวัฒนาการของกระจุกดาวทรงกลมยังเป็นปริศนาที่นักดาราศาสตร์ไขความกระจ่างตลอดมา.