คนไทยฟังวิทยุมากขึ้น ช่วงอยู่บ้านเพื่อลดการระบาดโควิด-19 สัปดาห์ละ 15 ชั่วโมง 2 นาที ฟังเพลงไทย เพลงลูกทุ่ง รายการสุดฮิตตลอดกาล

นีลเส็น บริษัทสำรวจและวิจัยพฤติกรรมการรับสื่อของคนไทย เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์พฤติกรรมการรับฟังสื่อวิทยุของคนไทย ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าช่วงโควิด-19 ระบาด คนไทยอยู่บ้านฟังวิทยุเพิ่มขึ้น

คนไทยฟังวิทยุเฉลี่ยวันละกว่า 2.17 ชั่วโมง

ช่วงเดือน เม.ย. 2563 คนไทยฟังวิทยุเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2563 จากการฟังเฉลี่ย 14 ชั่วโมง 16 นาทีต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นเป็น 15 ชั่วโมง 2 นาทีต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ยวันละ 2.17 ชั่วโมง

ส่วนจำนวนผู้ฟังโดยเฉลี่ยต่อสถานีในเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นถึง 21% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค. และเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย.ของปีที่แล้ว และแน่นอนว่ายอดผู้ฟังวิทยุจากที่บ้านเพิ่มสูงขึ้น 18% และฟังในรถลดลง 1%

ส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับฟังวิทยุ ฟังผ่านโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เพิ่มขึ้น 29% ส่วนการฟังจากวิทยุเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบระหว่างเดือน มี.ค.และ เม.ย.

...

เพลงไทย เพลงลูกทุ่ง เพลงสากล ฮิตตลอดกาล
คนไทยนิยมฟังรายการเพลงไทย เช่น ป๊อป ร็อก ฮิปฮอบ เพลงลูกทุ่ง และเพลงสากล โดยเฉพาะเพลงสากลฟังเพิ่มขึ้นถึง 28% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ส่วนรายการที่ได้รับความนิยมตามมา คือ รายการข่าว ข่าวกีฬา ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย

สำหรับกลุ่มอายุผู้ชมที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเทียบข้อมูลระหว่างเดือน เม.ย.กับเดือน มี.ค.ในแต่ละประเภทรายการมีกลุ่มอายุที่ต่างกัน ดังนี้

รายการเพลงลูกทุ่ง กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นกว่า 10%

กลุ่มรายการข่าว ข่าวกีฬา กลุ่มอายุ 40-49 ปี เพิ่มขึ้นกว่า 4%

รายการเพลงไทย กลุ่มอายุ 20-29 ปี เพิ่มขึ้นกว่า 23%

รายการเพลงสากล กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นกว่า 125%  

นอกจากนี้ เมื่อเราอยู่บ้านทำงานกันมากขึ้น ทำให้เดือน เม.ย. มีผู้ฟังวิทยุในช่วงเวลาอื่นๆ จากเดิมปกติมีผู้ฟังสูงสุด (ไพร์มไทม์) ช่วงเวลา 16.00-17.00 น. มาฟังช่วง 08.00-14.30 น.มากขึ้นในวันธรรมดา โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00-11.00 น. ที่ฟังเพิ่มขึ้นถึง 40% ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ มีผู้ฟังเพิ่มสูงขึ้นช่วงเวลา 08.00-14.00 น.

แม้ผู้ฟังเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินโฆษณาที่ลงกับสื่อวิทยุ กลับลดลง 21% โดยสินค้ามาลงโฆษณาสูงสุดเป็นกลุ่มการเงิน กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล กลุ่มอาหารเสริม กลุ่มยานยนต์ และหน่วยงานรัฐบาล

การสำรวจนี้ สำรวจในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้ฟังวิทยุ จำนวน 1,650 คน อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

การฟังวิทยุเฉลี่ยวันละประมาณ 2 ชั่วโมง ถือว่าน้อยกว่าการใช้สื่ออื่น เมื่อเทียบกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างการดูวิดีโอ เฉลี่ยวันละเกือบ 4 ชั่วโมง ดูโซเชียลมีเดียกว่า 3 ชั่วโมง ดูทีวีวันละประมาณ 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ