พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ แม่พิมพ์มาตรฐานคุ้นตา องค์นี้ลงรักน้ำดำ ไม่มีวี่แววปิดทองไว้ รักน้ำดำของโบราณเนื้อหนา แรงดูดซับจึงกระชับเข้ากับผิวและ เนื้อปูนแน่นเหนียวมาก ยากต่อการลอกล้าง
ครู “ตรียัมปวาย” สอนไว้ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จฯว่า รักน้ำเกลี้ยง (สีดำแกมน้ำตาล ดำแกมเลือดหมู) มักบาง การล้างไม่หนักมือ แช่ทินเนอร์เอาไว้สิบยี่สิบนาที ก็ล่อนออกได้ง่ายๆ
แต่กับรักน้ำดำ ทินเนอร์ไม่ได้ผล...เซียนพระรุ่นต่อมาใช้น้ำยาล้างสี...แช่ไว้ให้รักเดือด แล้วใช้น้ำแช่น้ำแข็งราดหยุดปฏิกิริยา หลายองค์มาตรฐานของวงการ ล้างลอกรักออก ด้วยวิธีนี้
แต่ก็ยังมีพระลงรัก...หลายๆองค์ที่เจ้าของอยากดูเนื้อใน ใช้วิธีหักดิบ ด้วยการขูดลอกเอารักออก
ถ้าเห็นพระสมเด็จฯแท้ มีร่องรอยขนแมว (จากการขูดขีด) อย่างน้อยก็ได้รู้ว่า เป็นพระก่อน ยุคใช้น้ำยาลอกรัก ขีดเส้นใต้เติมคะแนนความเป็นพระแท้ได้...ส่วนหนึ่ง
ใคร...ที่อยากทำความเข้าใจ กับ “รักน้ำดำ” ในสมเด็จวัดระฆัง...ผมอยากให้หาหนังสือดู“องค์ครู” องค์หนึ่ง โชคดีที่เจ้าของจงใจถ่ายภาพไว้ให้ดูตอนมีรัก และหลังลอกรักออก
ผมมีทำเนียบพระพันตาของ “สีกาอ่าง” ใกล้มือ เปิดดูเขาลงเรียงไว้สามสภาพ ภาพ 68 ล้างรักแล้วดูเนื้อขุ่นขาวซีดเซียว ภาพ 69 สภาพ เดิม มีรักน้ำดำแน่นหนาด้านหน้า และภาพที่ 69 สภาพสดใสสว่างตากว่าองค์แรก
พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่องค์นี้ตีพิมพ์ซ้ำๆ ในหนังสือวงการหลายเล่ม ถือเป็นองค์ครูของพระที่สภาพสึกช้ำดูง่าย...แต่ถ้าโชคดีได้ดู ทั้งที่ยังมีรักและลอกรัก ก็ถือว่าได้ปัญญา รู้จักสภาพพระสมเด็จฯแท้...ก้าวหน้าไปอีกขั้น
...
สภาพผิวของ “องค์ครู” องค์นี้ เรียบเนียน แบบเดิมๆ ไม่มีรอยขนแมวจากการล้างแบบหักดิบ ให้เห็นรักดำหนาด้านหน้า ถือเป็นแบ็กกราวด์ (ฉากหลัง) ช่วยขับองค์พระเนื้อขาวให้เด่นขึ้น ซึ้งตาซึ้งใจตามประสาคนเป็นพระด้วยกัน
ส่วนด้านหลัง รอยปริแยกขอบข้างชัดเจน ริ้วรอย หลุมร่องที่มีรักดำฝังอยู่ ก็ช่วยเติมคะแนนให้ดูง่ายยิ่งขึ้น
คงเป็นด้วยเจ้าของพระ อยากลุ้นว่า ถ้าลอกรักออกแล้ว องค์พระจะเด่นหรือสวยกว่าหรือไม่ เมื่อตัดสินใจลอกออกแล้ว ก็พบว่าสภาพพระที่ไม่มีรัก ไม่สวยเด่นเช่นที่หวัง ทั้งยังขาดเสน่ห์ลงไป ความซึ้งตาซึ้งใจน้อยลง
ทีนี้ ลองมาเทียบกับสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์ในคอลัมน์วันนี้
ที่จริงเป็นพิมพ์เดียวกัน สภาพใกล้เคียงกัน เนื้อรักดำหนาแน่นรอบองค์พระไปถึงฐานทั้งสามชั้น ความซึ้งตาซึ้งใจจากผิวเนื้อส่วนที่นูนยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถ้าเพ่งดูในพื้นผนัง ทั้งในซุ้มและนอกซุ้ม ก็จะพบว่าการลอกรักที่ลงมือทำไป ไม่นุ่มนวลเท่าที่ควร
ด้านหน้ายังสังเกตเห็น พื้นผนังที่เป็นหลุมร่องจากการลอกรัก ด้วยการขูดออก ยิ่งพลิกดูด้านหลัง หลุมร่องยิ่งลึก แม้มีเศษรักชิ้นเล็ก สลับตามหลุมร่อง แต่ก็ยังเห็นการหลุดออก ที่ไม่เป็นธรรมชาติ
แผ่นรักดำใหญ่ ด้านหลังมุมล่างขวา (มือเรา) ย้ำการดูดซับจับแน่น...ยืนยันรักดำ ขูดลอกออกยากมากจริงๆ
แต่กระนั้น ก็ยังเหลือร่องรอยที่คล้ายรูพรุนปลายเข็ม หลังสมเด็จวัดระฆังสภาพหนึ่ง ไว้ให้อุ่นใจ
ดูภาพรวมๆของ “องค์ครู” ตอนที่ยังไม่ลอกรัก กับองค์นี้ยังไม่ลอกรัก เทียบเคียงกัน จะเห็นว่าเสน่ห์ของพระที่มีรักเป็นฉากหลังองค์พระ สูงกว่าองค์ที่ไม่มีรักเป็นฉากหลัง
ด้วยหลักคิดนี้ เมื่อเจ้าของพระถามว่า ควรลอกรักออกหรือไม่ ผมก็ฟันธงไปทันที รักษา “รัก” ท่านเอาไว้เถิด
“รัก” ไม่เพียงเป็นหลักฐานสำคัญ ช่วย ตัดสินความเป็นพระสมเด็จฯแท้เท่านั้น เจตนาของผู้ลงรัก ก็เพื่อจะรักษาเนื้อพระองค์พระเอาไว้ ให้ยืนยงคงอยู่ในสภาพเดิมๆนานเท่านาน
เหลือรักถึงมือให้เราเห็นได้ถึงวันนี้ ถือว่าเป็นบุญตัวบุญตาหนักหนาแล้ว.
พลายชุมพล