ดาวหางโบรีซอฟ (2I / Borisov) คือวัตถุระหว่างดวงดาว ที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชื่อเกนนาดี โบรีซอฟ ตรวจพบในเดือน ส.ค.2562 นักวิทยาศาสตร์เริ่มสรุปเมื่อปีที่แล้วว่าดาวหางโบรีซอฟคล้ายกับดาวหางในระบบสุริยะของเรา แต่ล่าสุด ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและหอดูดาวในชิลีเปิดเผยว่า มันมีความแตกต่างในองค์ประกอบของดาวหาง

ก๊าซที่ปล่อยออกมาจากดาวหางโบรีซอฟ มีคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณสูงมากกว่าดาวหางที่เกิดขึ้นในระบบสุริยะ บ่งบอกว่าวัตถุนี้มีคาร์บอนมอนอกไซด์เข้มข้นในสถานะของแข็งอยู่จำนวนมาก จริงอยู่ที่คาร์บอนมอนอกไซด์เป็นพิษต่อมนุษย์ แต่เป็นสิ่งธรรมดาในอวกาศ โดยจะก่อตัวเป็นน้ำแข็งในที่ที่หนาวจัดเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยออเบิร์น ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า ดาวหางเป็นชิ้นส่วนที่เหลือจากการก่อตัวของดาวเคราะห์ และนี่เป็นครั้งแรกที่สามารถตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีของวัตถุจากระบบดาวเคราะห์อื่นในขณะที่มันโคจรผ่านระบบสุริยะ

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ดาวหางโบรีซอฟเกิดมานานแล้วในจานฝุ่นก๊าซและฝุ่นที่หมุนรอบดาวฤกษ์ที่เพิ่งก่อตัวในพื้นที่ที่ต้องมีคาร์บอนมอนอกไซด์อยู่มากมาย ดาวฤกษ์ดวงนั้นอาจเป็นดาวแคระชนิด M มีขนาดเล็กกว่าและเย็นกว่าดวงอาทิตย์ของเรา นอกจากนี้ ยังพบความหลากหลายของไฮโดรเจนไซยาไนด์ในระดับที่ใกล้เคียงกับดาวหางในระบบสุริยะ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าดาวหางโบรีซอฟ ไม่ใช่วัตถุต่างด้าวอย่างสิ้นเชิงและยืนยันว่ามันคล้ายคลึงกันกับดาวหางปกติในระบบสุริยะของเรา.