รายงานจากองค์การอนามัยโลก เผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการวิจัยและพัฒนา “วัคซีนโควิด-19” ต้นแบบได้มากกว่า 80 ชนิด และหลายประเทศเริ่มมีการทดลองฉีดวัคซีนกับคนแล้ว เช่น จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา เพิ่มความหวังในการมีวัคซีนไว้ใช้ป้องกันโรคภายในไม่เกิน 18 เดือน

สำหรับประเทศไทยก็มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ เรื่องนี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า ประเทศไทยมีแผนสร้างการเข้าถึงวัคซีนด้วยการทำความร่วมมือวิจัยกับประเทศต่างๆที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาวัคซีน ควบคู่ไปกับการเตรียมแผนรองรับการใช้วัคซีนโควิด-19 เพื่อลดปัญหาการระบาดของโรคในประชากรกลุ่มต่างๆ นอกเหนือจากมาตรการด้านการควบคุมป้องกันโรค การรักษา การค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อเชิงรุกและอีกหลายๆ มาตรการที่แต่ละประเทศนำออกมาใช้ เพื่อนำไปสู่การหยุดยั้งโรคติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต่างมีความพยายามและความหวังในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ให้กับประชาชนของตนเอง เพราะเมื่อไหร่ที่มีวัคซีน นั่นหมายความว่า เราก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติได้”

...

อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า การฉีดวัคซีนนอกจากจะช่วยป้องกันโรคติดต่อต่างๆได้แล้ว ยังช่วยลดการแพร่ระบาดและลดผลกระทบที่ร้ายแรงของโรคต่อผู้ป่วยได้ด้วย เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนเข้าไป ร่างกายจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกัน” ซึ่งจะอยู่ในเลือดและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำหน้าที่ปกป้องผู้นั้นจากการติดเชื้อและการป่วย โดยแต่ละประเทศจะมีการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆให้กับประชากรของตนตั้งแต่วัยเด็ก แต่แผนการให้วัคซีนของแต่ละประเทศในโลกจะไม่เหมือนกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดโรคติดเชื้อไม่เหมือนกัน

“วัคซีนโควิด-19 ถือว่าเป็นความหวังของคนทั่วโลกและของไทย จนถึงขณะนี้ วัคซีนสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประมาณ 6 ชนิดพัฒนามาถึงขั้นตอนการทดสอบในมนุษย์แล้ว” คุณหมอสุวรรณชัยบอก

มีคำถามว่า ทำไมวัคซีนโควิด-19 จึงมีการพัฒนาได้เร็ว อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า ที่วัคซีนตัวนี้พัฒนาได้เร็ว เนื่องจากเป็นการพัฒนาต่อยอดจากวัคซีนโรคซาร์ส ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูลเดียวกันและเคยมีการระบาดมาก่อนหน้านี้และด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันคาดการณ์ว่าภายในเวลาประมาณ 12-18 เดือน น่าจะมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้

คุณหมอสุวรรณชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ล่าสุด การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของประเทศจีนมีความก้าวหน้าไปมาก ถึงขั้นนำมาทดสอบในคนระยะที่ 2 แล้ว ซึ่งประเทศไทยโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติกำลังทำความร่วมมือเพื่อร่วมทดสอบวัคซีนดังกล่าวในคนไทยด้วย ทั้งนี้ โดยทั่วไปการทดสอบวัคซีนในคนจะมี 3 ระยะ ระยะที่ 1 ดูความปลอดภัยในคนประมาณ 50-100 คน ระยะที่ 2 ดูผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันประมาณ 200-500 คน และระยะที่ 3 ดูผลในการป้องกันโรคประมาณ 2,000-10,000 คน นอกจากนี้ ยังติดต่อขอทำความร่วมมือกับอีกหลายประเทศ เมื่อประเทศใดสามารถผลิตวัคซีนได้ประเทศไทยก็จะขอรับการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีให้กับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน เราก็สามารถเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้ หรือจะเป็นได้ทั้งการซื้อวัคซีนในจำนวนเบื้องต้นก่อน และหากมีการให้วัคซีนมาบรรจุเอง ประเทศไทยก็มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว เช่น โรงงานผลิตวัคซีนขององค์การเภสัชกรรม หรือโรงงานบริษัทร่วมทุนขององค์การเภสัชกรรมและเอกชน หรือโรงงานผลิตวัคซีนของเอกชนไทย คาดว่าจะสามารถทดลองวัคซีนดังกล่าวในประเทศไทยได้ภายในไม่เกิน 4 เดือนข้างหน้า

...

ส่วนการพัฒนา“วัคซีนโควิด-19” ของประเทศไทย ล่าสุดทีมวัคซีนไทยได้มีการดำเนินการวิจัยพัฒนาผลิตวัคซีนต้นแบบขึ้นเอง และเริ่มทำการทดลองในลิงหรือหนูแล้ว กำลังรอผลการทดสอบในหนูจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าปลอดภัย กระตุ้นภูมิคุ้มกันจนถึงขั้นสามารถนำไปสู่การทดลองในคนต่อหรือไม่ ซึ่งทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรคได้มีการปรึกษาหารือเพื่อเตรียมพร้อมกับเครือข่ายงานด้านวัคซีนของประเทศ ทั้งคนและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งทำงานใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเร่งรัดกระบวนการอนุญาตในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยวัคซีน ซึ่งหากประสบผลสำเร็จในการวิจัยก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการเข้าถึงวัคซีนของคนไทย

ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่ผ่านมาเมื่อไม่นานนี้ได้มีการเสนอพิมพ์เขียวของแผนการผลิต “วัคซีนโควิด-19” ของไทย ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติสนับสนุนการทำแผนการทดลองและจัดให้มีการร่วมมือกันในระดับประเทศในการผลิต“วัคซีนโควิด-19”ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการติดต่อกับสถาบันวิทยาศาสตร์ในไทยและต่างประเทศเพื่อลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อพัฒนาวิจัยวัคซีน เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายระหว่างคู่สัญญาและช่วยให้ประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น.

...