ในยามวิกฤติต้องไม่ทอดทิ้งผู้ใช้แรงงาน
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่สารพัดสี จำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2563
“ธนูเทพ” ประจำการรับใช้ท่านผู้อ่าน...วันนี้ตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ แม้คณะรัฐมนตรีมีมติไม่เลื่อนวันหยุดพิเศษ ในเดือน พ.ค. ทั้ง 4 วัน คือ วันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค. วันฉัตรมงคล 4 พ.ค. วันวิสาขบูชา 6 พ.ค. และ วันพืชมงคล 11 พ.ค. ตามที่ กระทรวงวัฒนธรรม เสนอ แต่สำหรับปีนี้ องค์กรแรงงาน ก็ไม่ได้จัดงาน วันแรงงาน เหมือนกับทุกปี เพราะยังอยู่ในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติจากเหตุ โรคระบาดไวรัสโควิด-19...ทั้งนี้ สุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ ระบุว่าที่ประชุม ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้าง 15 แห่ง มีมติให้ งดจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พ.ค. โดยจะส่งมอบเงินที่จะใช้ในการจัดงาน 4.9 ล้านบาท เพื่อให้ รัฐบาล นำไปใช้ในการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม ภาคแรงงาน จะยื่นข้อเรียกร้อง 9 ข้อ ต่อ รัฐบาล ให้แก้ปัญหาแรงงานที่เรียกร้องไว้เมื่อ ปี 2562 และยังไม่ได้ดำเนินการ อาทิ ให้รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 เรื่องการจัดตั้ง สหภาพแรงงาน และฉบับที่ 98 เรื่องการเจรจาต่อรอง ขอให้ ปฏิรูปประกันสังคม...ที่สำคัญ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้ใช้แรงงานและลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยคาดว่าจะมี ลูกจ้างแรงงาน 7 ล้านคน ได้รับผลกระทบ เพราะสถานประกอบการทยอยเลิกจ้างมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ รัฐบาล ยังไม่มีมาตรการเยียวยาคนตกงานอย่างจริงจัง แต่ผลักภาระในการชดเชยการว่างงานไปให้ สำนักงานประกันสังคม รับผิดชอบจ่ายเงินทดแทนให้สถานประกอบการที่ปิดกิจการชั่วคราว และมีการตีความกันเอาเองว่า การที่นายจ้างประกาศให้หยุดงานชั่วคราว เป็นเหตุสุดวิสัย นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้าง ไม่น้อยกว่า 75% ของค่าจ้าง ตามมาตรา 75 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แต่โยนให้ ประกันสังคม เข้าไปจ่ายแทนในอัตรา 62% ของค่าจ้าง ขณะที่ ภาคแรงงาน ไม่เห็นด้วยเพราะ เงินประกันสังคม แบ่งเป็นกองๆ ดูแลแต่ละด้าน หากอนาคต เงินประกันสังคม ที่จะใช้ดูแล กรณีว่างงาน หมดลงจะทำอย่างไร เพราะในภาวะที่ประเทศต้องเผชิญสถานการณ์ไวรัสโควิด ก็ยิ่งจะทำให้มี คนตกงาน เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยยังไม่รู้ว่าเอาเงินที่ไหนมาเติมในส่วนที่หายไป
...
“ธนูเทพ” มองว่าประเด็นนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจ เพื่อพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลืออย่างยั่งยืนต่อไป เพราะต้องไม่ลืมว่าลูกจ้างแรงงาน จำนวน 7 ล้านคน ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจาก ปัญหาการว่างงาน มีภาระต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวอีกหลายชีวิต ดังนั้นผู้ได้รับผลกระทบจึงไม่ใช่แค่ผู้ใช้แรงงาน 7 ล้านคน แต่ยังรวมถึง พ่อ แม่ ลูก เมีย รวมกันแล้วเกินกว่า 10 ล้านคน อย่างแน่นอน...ถือเป็นความทุกข์ของผู้ใช้แรงงานทั้งแผ่นดิน
...
และแน่นอนปัญหาคนตกงานในห้วงไวรัสโควิดระบาด ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีปัญหาคนตกงานจำนวนมาก เควิน แฮสเซ็ตต์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุว่า จากการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบด้านลบต่อภาวะเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเผชิญมา และอาจทำให้อัตราการว่างงานพุ่งสูง พอๆ กับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 1930 ทั้งนี้ตั้งแต่ กลางเดือน มี.ค. มี ชาวอเมริกัน ยื่นคำขอรับเงินเยียวยากรณีว่างงานแล้วไม่ต่ำกว่า 26.5 ล้านคน แถมสถานการณ์ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มจะหนักหน่วงกว่านี้...โดยที่ผ่านมา สภาคองเกรส ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 3 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิดระบาด เพื่อช่วยเหลือ แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และ พยุงเศรษฐกิจ ที่ทรุดลงอย่างต่อเนื่อง...ถ้ารัฐไม่ช่วยเหลือ ผู้ใช้แรงงานคงอ่วมไปตามๆกัน
...
สำหรับสถานการณ์และผลกระทบจากไวรัสโควิดในประเทศไทย หลังจากคณะรัฐมนตรี มีมติตามข้อเสนอของ ศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นั่งคุมบังเหียนในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค. ให้ขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน โดย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค. รวมทั้งคงมาตรการเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน ตั้งแต่ 4 ทุ่ม ถึง ตี 4 ของวันรุ่งขึ้น ต่อไปอีกจนถึง 31 พ.ค. นี้...ขณะที่ “เดอะฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด กำชับให้ปฏิบัติตามประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่ นายกรัฐมนตรี กำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ยังมีผลบังคับใช้ โดยเคร่งครัด ทั้งนี้ การออกประกาศ หรือ คำสั่งของจังหวัด ที่เกี่ยวข้องให้รอการสั่งการเชิงนโยบายจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ก่อน เพื่อให้เกิดเอกภาพพร้อมกันทั่วประเทศและมีกฎหมายรองรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการปฏิบัติต่อไป...ถือว่าออกคำสั่งฉับไว เน้นบูรณาการ เพื่อป้องกันความสับสน
...
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในเมืองไทย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 แถลงเมื่อวันที่ 29 เม.ย. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9 คน ถือว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำสิบเป็นวันที่สาม รวมมีผู้ติดเชื้อ 2,947 คน รักษาหายกลับบ้านแล้ว 2,665 คน ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 228 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม มีผู้เสียชีวิตสะสม 54 ราย...ถือว่าสถานการณ์ผ่อนคลายลง แต่ยังวางใจไม่ได้ มาตรการที่เราคุมเข้มทำได้ดี เพราะบางประเทศผ่อนปรนแล้ว เกิดการระบาดระลอก 2 และระลอก 3 การผ่อนคลายมาตรการจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะยังมีความสุ่มเสี่ยง...การผ่อนคลายใดๆจึงต้องทำด้วยความรอบคอบ
แต่โดยสถานการณ์ความจำเป็นที่รัฐบาล ต้องเปิดช่องให้ชาวบ้านประกอบอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ต้นเดือน พ.ค. นี้ คงมีการผ่อนคลายมาตรการ อย่างที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เกริ่นนำร่องเตรียมเปิดสถานที่ต่างๆในพื้นที่ กทม. อาทิ ร้านอาหาร ร้านแผงลอย ตลาดสด ตลาดนัด ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย แต่ต้องมีมาตรการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ส่วนต่างจังหวัดก็ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของ ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาจากสถิติผู้ติดเชื้อแต่ละพื้นที่...ที่สำคัญ เมื่อมีการผ่อนคลายทั้ง ผู้ประกอบการ และ ลูกค้า ต้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันสุขภาพอย่างเข้มข้น...อย่าประมาท เพราะภัยโควิดยังอยู่รอบตัว
"ธนูเทพ"