Credit : ESO/M.Kornmesser

เมื่อเร็วๆนี้นักวิจัยมหาวิทยาลัยเจนีวาในสวิตเซอร์แลนด์ รายงานการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบอันไกลโพ้นจากเครื่องมือ ESPRESSO บนกล้องโทรทรรศน์วีแอลทีที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งดาวเคราะห์ดวงนี้มีความแปลกประหลาดน่าศึกษา นั่นคือพบว่ามีฝนตกในตอนเย็น เพียงแต่ว่าฝนที่ตกลงมานั้นดูเหมือนจะเป็นหยดโลหะ

ดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้รู้จักกันในชื่อว่า WASP-76b อยู่ห่างออกไป 640 ปีแสง ตั้งอยู่ในกลุ่มดาวปลาคู่ (Pisces) นักวิจัยเผยว่าดาวเคราะห์ดวงนี้มีด้านส่องสว่างที่หันหน้าเข้าหาดาวฤกษ์ของตนเองอย่างถาวร เหมือนดวงจันทร์ของเราที่หันด้านสว่างเข้าหาโลก ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นแดนสนธยามีแต่ความมืดมิดตลอดกาล อุณหภูมิของด้านสว่างของดาวเคราะห์ WASP-76b นั้นสูงถึง 2,400 องศาเซลเซียส เนื่องจากถูกกระทบด้วยรังสีจากดาวฤกษ์มากกว่าบนโลกของเราหลายพันเท่า ความร้อนทำให้โมเลกุลแตกตัวเป็นอะตอมส่งผลให้โลหะระเหยกลายเป็นไอสู่ชั้นบรรยากาศ

จากนั้นไอของโลหะนั้นถูกพัดพาไปด้วยลมแรง จนข้ามไปด้านมืดของดาวซึ่งมีความเย็นเยียบกว่า และที่นั่นเองที่ไอของโลหะเกิดการเย็นลง จนควบแน่นเป็นหยดเหล็กเหมือนฝนตกลงมาบนพื้นผิวดาวเคราะห์.