“เบาหวาน” เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่นับวันจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจุบันมีผู้ใหญ่เป็นโรคเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน และมักเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป กิจกรรมทางกายลดลง กินอาหารไม่ถูกสัดส่วน และขาดการออกกำลังกาย จนนำไปสู่การมีภาวะน้ำหนักเกินจนถึงเป็นโรคอ้วน และมีการคาดการณ์ว่าความชุกของโรคเบาหวานจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.3 ล้านคนภายในปี 2583 และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาให้ดี อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคไต การถูกตัดเท้าหรือขา เป็นต้น

การควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งที่ผู้เป็นเบาหวานทุกคนและผู้ดูแลจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญ เพื่อชะลอความเสื่อมของไต เพราะเมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของไตของแต่ละคนก็จะลดลง และหากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ก็จะส่งผลให้ไตเริ่มเสื่อม หากเสื่อมจนถึงระยะสุดท้ายก็จะต้องทำการล้างไต เรื่องอาหารการกินจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องหันมาให้ความสำคัญเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว  และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้

อาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของคนเรามีทั้งหมด 6 หมวด ได้แก่ หมวดข้าวแป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ นม และไขมัน

1. หมวดข้าวแป้ง 1 ส่วน ให้พลังงาน 80 แคลอรี

...

ใน 1 มื้อ ควรกินอาหารหมวดข้าวแป้งประมาณ 2-3 ส่วน หรือ 2-3 ทัพพี สำหรับคนที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน อาจต้องมีการจำกัดปริมาณ ควรปรึกษานักโภชนาการ ซึ่งอาหารในหมวดนี้ยังสามารถเลือกกินอาหารอื่นๆ นอกจากข้าวได้ โดยข้าว 1 ทัพพี เทียบเท่ากับ

     ขนมปัง 1 แผ่น

     เส้นก๋วยเตี๋ยวทุกชนิด 1 ทัพพี

     ขนมจีน 1 ทัพพี (1 จับใหญ่)

     ข้าวโพด ½ ฝัก

     เผือกต้ม มันเทศต้ม 1 ทัพพี

แนะนำให้กินข้าวแป้งหรือธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท เพื่อเพิ่มใยอาหาร ช่วยชะลอการดูดซึมของน้ำตาล แต่หากต้องการควบคุมระดับฟอสฟอรัส (ฟอสเฟต) ร่วมด้วย ควรกินข้าวขัดขาวและงดธัญพืชต่างๆ เนื่องจากข้าวแป้งและธัญพืชไม่ขัดสีมีฟอสฟอรัสสูง

2. หมวดผลไม้ 1 ส่วน ให้พลังงาน 60 แคลอรี

ผลไม้ทุกชนิด ไม่ว่าจะมีรสหวานในตัวเองหรือไม่ ก็ล้วนมีน้ำตาลทั้งนั้น จึงควรควบคุมปริมาณการกินผลไม้ โดยเฉพาะหากกินผลไม้ที่มีความฉ่ำ จะยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงควรหลีกเลี่ยงการกินทุเรียน เงาะ ลองกอง ลำไย เป็นต้น ควรกินผลไม้สดให้หลากหลายครั้งละ 6-8 ชิ้นคำ วันละ 1-3 ครั้ง เพื่อให้ได้วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหาร หลีกเลี่ยงผลไม้แปรรูป เช่น เชื่อม ดอง กวน แช่อิ่ม และเครื่องจิ้มต่างๆ เช่น พริกเกลือ น้ำปลาหวาน กะปิหวาน รวมทั้งน้ำผลไม้คั้น ผลไม้ปั่น น้ำผลไม้แยกกาก

     ปริมาณผลไม้ 1 ส่วน เช่น

     กล้วยไข่, กล้วยน้ำว้า 1 ผลกลาง

     กล้วยหอม ½ ผลกลาง

     ฝรั่ง, สาลี่ ½ ผลกลาง

     ส้มเขียวหวาน 1 ผลใหญ่

     ลำไย, ลิ้นจี่, สตรอว์เบอร์รี่ 6 ผล

     ลองกอง 8 ผล

     องุ่น 10 ผล

     แตงโม 20 ชิ้นคำ

3. หมวดเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ที่สุกแล้ว 1 ส่วน ให้พลังงาน 73 แคลอรี ได้แก่

     เนื้อหมู, วัว, เป็ด, ไก่, ปลา, ปู, หอย, กุ้ง 2 ช้อนโต๊ะ

     ไข่เป็ด, ไข่ไก่ 1 ฟอง

     เต้าหู้ขาวอ่อน 2 ช้อนโต๊ะ (2/3 หลอด)

     เต้าหู้เหลือง 2 ช้อนโต๊ะ (1/2 แผ่น)

ควรเลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดหนังติดมัน หลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ เพราะมีคอเลสเตอรอลสูง รวมทั้งเนื้อสัตว์แปรรูป เพราะมักมีไขมันในปริมาณสูง และมีเครื่องปรุงรสเค็มและหวานเพิ่ม

...

4. หมวดนม นม 1 ส่วน (240 มิลลิลิตร) ให้พลังงาน 80-150 แคลอรี ขึ้นอยู่กับไขมันในนมที่เลือก

แนะนำให้เลือกดื่มนมจืดไขมัน 0% หรือนมจืดพร่องมันเนย 1-2 ส่วน/วัน เพื่อให้ได้แคลเซียมและโปรตีน ซึ่งนม 1 ส่วน เทียบได้เท่ากับเนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ

หลีกเลี่ยงนมที่เติมน้ำตาล นมข้นหวาน นมรสหวาน นมเปรี้ยวรสผลไม้ต่างๆ

แต่หากต้องควบคุมระดับฟอสฟอรัส (ฟอสเฟต) ร่วมด้วย ควรงดนมทุกประเภท

5. หมวดผัก ผักให้พลังงานน้อยมาก สามารถกินได้ตามต้องการ ได้แก่

แนะนำกินผักให้หลากหลาย 1-2 ทัพพี/มื้อ เพื่อให้ได้วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารที่เพียงพอ ซึ่งใยอาหารจะช่วยทำให้อิ่มท้อง และชะลอการดูดซึมของน้ำตาลและไขมันได้

หลีกเลี่ยงผักทอด ผักชุบแป้งทอด ผักราดกะทิ รวมทั้งผักที่มีแป้งมาก เช่น ฟักทอง ถ้ากินในปริมาณมาก (> ½ ทัพพี) จะให้พลังงานใกล้เคียงกับหมวดข้าวแป้ง

6. หมวดไขมันหรือน้ำมัน 1 ส่วน ให้พลังงาน 45 แคลอรี

เลือกใช้น้ำมันที่ทำจากพืชมาประกอบอาหาร เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย เป็นต้น หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ น้ำมันจากสัตว์ มาการีน ครีมเทียม

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

น้ำตาล 1 ช้อนชา (5 กรัม) ให้พลังงาน 20 แคลอรี

โดยทั่วไปควรได้รับน้ำตาล 1-2 ช้อนชา/มื้อ

เกลือ น้ำปลา เครื่องปรุงรสต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังในการกิน เพราะหากกินอาหารที่มีรสเค็ม หรือปริมาณโซเดียมมากเกินไป ก็จะส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น

ความต้องการโซเดียมที่ร่างกายได้รับสูงสุดและไม่ทำให้เกิดอันตรายคือ 2,400 มิลลิกรัม/วัน หรือเทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา/ซีอิ๊วขาว 6 ช้อนชา

...

แหล่งของโซเดียม

1. อาหารตามธรรมชาติ เช่น อาหารทะเล ไข่ นม เนย

2. อาหารที่มีการแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ไข่เค็ม เนื้อสวรรค์ ปูเค็ม กุ้งแห้ง แฮม ไส้กรอก ผักดอง

3. อาหารขบเคี้ยวบรรจุถุง เช่น ถั่วอบเนย ถั่วทอด มันทอด มันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ

4. อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋องทุกชนิด

5. เครื่องปรุงรสต่างๆ ที่ใช้เกลือเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส เต้าเจี้ยว น้ำมันหอย กะปิ ปลาร้า ซุปก้อน น้ำพริกแกงสำเร็จ ฯลฯ

6. สารปรุงแต่งอาหารบางชนิดที่ไม่มีรสเค็ม แต่มีโซเดียมสูง เช่น ผงชูรส ผงฟู สารกันบูด

การควบคุมไม่ให้ได้รับโซเดียมมากเกินไป

1. หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงรส เพราะอาหารที่ปรุงเสร็จมาแต่แรกได้เติมเครื่องปรุงรสมาแล้ว

2. หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารรสจัด และอาหารหมักดอง

3. หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยวที่มีเครื่องปรุงรสปริมาณมาก

4. เลือกอาหารสดจากธรรมชาติ ไม่ผ่านการแปรรูป หรือการถนอมอาหาร

5. อ่านฉลากโภชนาการ และเลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยที่สุด

6. ชิมก่อนปรุง

หากสามารถควบคุมอาหารตามคำแนะนำที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะทำให้ไตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยชะลอการเสื่อมของไต และทำให้เรามีไตที่ดีอยู่คู่กับเราไปอีกนานแสนนาน


@@@@@@@@

แหล่งข้อมูล

มุจลินทร์ พงษ์ประวัติ นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล