Credit : University of Warwick/Mark Garlick

ดาวแคระขาวจะมีอุณหภูมิที่พื้นผิวสูง ไม่ค่อยสว่าง ดาวประเภทนี้เป็นวิวัฒนาการช่วงท้ายๆของดาวฤกษ์ ส่วนใหญ่แล้วจะมีมวลไม่เกิน 1.4 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ ล่าสุด ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอร์วิก ในอังกฤษ ได้ค้นพบดาวแคระขาวอุดมไปด้วยก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ ห่างจากเราออกไป 150 ปีแสง แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือดาวแคระขาวดวงนี้มีขนาดใหญ่ผิดปกติ

จากการสำรวจข้อมูลด้วยกล้องโทรทรรศน์กายยา ขององค์การอวกาศยุโรป และติดตามด้วยเครื่องสเปกโตรสโกปีของกล้องโทรทรรศน์วิลเลียม เฮอร์เชล ทำให้สามารถจำแนกองค์ประกอบทางเคมีในชั้นบรรยากาศของดาวแคระขาวที่ชื่อ WDJ0551+
4135 พบว่ามีคาร์บอนอยู่ในระดับสูงผิดปกติ เป็นไปได้ว่านี่จะเป็นการควบรวมของดาวแคระขาวจำนวน 2 ดวง แต่เนื่องจากกระบวนการควบรวมนั้นจะเริ่มต้นด้วยการระบายความร้อนของดาว จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุช่วงเวลา นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าดาวแคระขาวดวงนี้น่าจะควบรวมกันเมื่อราว 1,300 ล้านปีก่อน โดยดาวแคระขาวดั้งเดิมทั้ง 2 ดวงอาจมีอยู่ก่อนหน้านั้นนานหลายพันล้านปี

นักดาราศาสตร์เผยว่า ในอนาคตอาจใช้เทคนิคแอสเตอโรไซสโมโลยี (Asteroseismology) ศึกษาการสั่นกระเพื่อมบนผิวดาวฤกษ์ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับองค์ประกอบแกนกลางของดาวแคระขาว ซึ่งเป็นอีกวิธีทางเลือกที่จะยืนยันว่าดาวแคระขาว WDJ0551 +4135 เกิดจากการควบรวมหรือไม่ และการศึกษานี้จะทำให้เกิดคำถามใหม่ๆเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาวแคระขาวขนาดใหญ่ รวมถึงจำนวนซุปเปอร์โนวาในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา.