ยึดหลักการแยกแยะแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์ สำนักท่าพระจันทร์ ที่เผยแพร่ในหนังสือพรีเชียส สเปเชียล ของอาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เทียบเคียงเส้นสายลายพิมพ์ องค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์ที่ 3

พิมพ์นี้ ถูกจัดเป็นพิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์ฐานสิงห์กว้าง คู่กับเกศบัวตูมองค์คุณมนตรี ในหนังสือพระเครื่องเล่มแรก ของคุณประจำ อู่อรุณ (พิมพ์ พ.ศ.2522) ที่จริง ดูๆแล้วทุกเส้นสายใกล้เคียงกัน

แต่ถ้าพิจารณาเทียบเคียงกันให้ดีๆ ก็พอจะเห็นช่องไฟระหว่างพระเพลากับฐานชั้นที่ 2 ของทรงเจดีย์ห่างกว่า...ขณะพิมพ์เกศบัวตูม แม่พิมพ์ฐานสิงห์กว้างแคบกว่านิดหนึ่ง

ทรงเจดีย์ พิมพ์ที่ 3 องค์ครู เจิดจ้าในฟอร์มพระผิวบาง แตกลายงาอ่อน เนื้อนุ่มซึ้งจัดจ้าน เป็นฟอร์มพระสมเด็จวัดระฆัง ตามค่านิยมเซียนรุ่นเก่า ใช้คำว่าเนื้อจัดดูง่าย

ในหนังสือพระเครื่องของวงการ รุ่นหลังๆ เริ่มมีทรงเจดีย์หลายพิมพ์ให้เห็น แต่ก็หาองค์ที่เทียบเคียงองค์ครูองค์นี้ได้ยากเต็มที

ข้อสังเกตพิเศษ ที่ควรเอามาเป็นข้อพิจารณา ก็คือ ตรงปลายพระเกศป่องกลาง

หลายองค์ดังๆที่เห็นคุ้นตา ส่วนที่ป่องกลางอยู่ทางซ้าย แต่องค์ทรงเจดีย์พิมพ์ที่ 3 ป่องกลางทั้งสองข้าง ทั้งซ้ายขวา

ใช้หลัก“ตรียัมปวาย” ครูบอกว่า พระเกศแบบนี้ คือ“แบบปลี” สัณฐานเขื่อง ได้ลักษณะเป็นจอมกระหม่อมเมาฬี ชัดเจนยิ่ง

จัดเป็นพระเกศที่งดงามที่สุดของพระสมเด็จ

ส่วนฐานกระหม่อมรับกับจอมพระศิระ จัดเป็นจอมกระหม่อมสูง ตอนกลางๆค่อยๆ เรียวขึ้น ส่วนมากจะอยู่ในแนวดิ่ง และมักจะคมชัด ลักษณะสันอกไก่

ลดสายตาจากพระเกศ ลงมาที่ใต้พระ-เพลา...มีเส้นแซมอยู่กลาง...แตกต่างจากพิมพ์ใหญ่ ที่เส้นแซมชิดพระเพลา...เส้นแซมลักษณะเดียวกันนี้ พบในทรงเจดีย์หลายองค์

...

ผ่านเรื่องข้อสังเกตด้านพิมพ์ทรงไปสู่เนื้อหา ทรงเจดีย์องค์นี้ ลงรักน้ำเกลี้ยงบางๆมาแต่เดิม แต่รักหลุดล่อนไปเกือบหมด เหลือฝ้าสีน้ำตาลอ่อนอยู่กับผิวขาวอมเหลือง

ชิ้นรักเล็กใหญ่ จมอยู่ในหลุมร่อง ประปรายไปทั่ว...จนเป็นเหมือนฉากหลัง ขับเน้นให้องค์พระที่เข้าลักษณะอกผายไหล่ผึ่ง ในเส้นซุ้มหวายผ่า มวลเนื้อละเอียด ทฤษฎีตรียัมปวาย เรียกเนื้อเกสรดอกไม้

จนได้มิติความซึ้งอีกสภาพ ที่แปลกตา

ทั้งด้านหน้า...เนื่องจากผิวแป้งโรยพิมพ์ และฝ้ารักชิ้นรัก ปกคลุมไว้ ไม่เห็นเม็ดมวลสารหลัก แต่เชื่อได้ว่า ถ้าเปิดผิวออก กากดำ เม็ดแดง ก้อนขาว กรวดเทา ฯลฯ มีครบ

ดูด้านหลัง...ขอบซุ้มสึกมน... พองามตามธรรมชาติ ไม่ถึงกับหลุดล่อย ทั่วพื้นหลัง ปรากฏรอยยุบ รอยแยก รอยยับ...ไล่ระดับสูงๆต่ำๆ กลมกลืนไปทั่ว

สภาพพระทรงเจดีย์องค์นี้ ดูภาพรวมปราดเดียว...ก็ตัดสินใจว่าเป็นพระแท้ ดูง่าย...ไม่ต้องเกร็งส่องเฉพาะจุด เฉพาะส่วน ให้เหนื่อยสายตา

พระสมเด็จวัดระฆังแท้มาตรฐาน ทั่วไป ก็เป็นเช่นองค์นี้แหละครับ ส่วนองค์ที่ดูแล้วก็ดูอีก ก็ด้วยเหตุผลเดียว มีจุดสะดุดตา...ทำไมๆ สิทธิ การิยะ ท่านว่า ถ้าต้องจ่ายแพง และไม่หนักแน่นพอ ก็ควร...วาง.

O พลายชุมพล O