ในจำนวนพระเครื่องชุดอยู่ยงคงกระพัน... ที่นักเลงพระรุ่นโบราณ ชื่นชมนิยมกัน มีพระ “กำแพงเขย่ง” รวมอยู่ด้วย ชื่อกำแพงเขย่ง หมายถึงพระพิมพ์ยืน...พระที่ขึ้นจากกรุเมืองสุพรรณ สมัยรัชกาลที่ 6 มีกำแพงนิ้ว กำแพงคืบ กำแพงศอก...

คำถามมีว่า พระกรุสุพรรณ ได้คำ “กำแพง” มาจากไหน

พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช...ทรงกล่าวไว้ใน “เสด็จประพาสต้น” ว่า “ของถวายในเมืองกำแพงเพชร ก็มีแต่พระพิมพ์เป็นพื้น” (ประเสริฐ ศรีสุวพันธ์ พระเครื่องเมืองกำแพงเพชร พ.ศ.2562)

พระพิมพ์ที่พบในฝั่งตำบลทุ่งเศรษฐี มีพระพิมพ์ยืนมากมายหลายพิมพ์ เรียกกันต่อมาตามชื่อเมืองกำแพงเพชร ใช้คำนำหน้าว่า พระกำแพง...เช่น กำแพงเม็ดขนุน กำแพงพลูจีบ กำแพงกลีบจำปา ฯลฯ

พระพิมพ์ยืนเหล่านี้...คือต้นแบบชื่อ “กำแพงเขย่ง” พุทธคุณดีทางลาภผล ตามชื่อทุ่งเศรษฐี หรือดีทางอยู่ยงคงพระพัน ก็ว่ากันไป เมื่อพบพระพิมพ์ยืนในสุพรรณบุรี ในรัชกาลต่อมา จึงยืมชื่อ “กำแพง” ไปใช้

พระพิมพ์ยืน เมืองกำแพงเพชร ต้นแบบชื่อกำแพงเขย่ง...อันดับหนึ่ง ก็คือพิมพ์กำแพงเม็ดขนุนนี่เอง

ข้อมูลจากหนังสือพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร ถือเป็นชุดความรู้ จากผู้รู้เจ้าถิ่น...พระกำแพงเม็ดขนุน เป็นพระเครื่องปางลีลาที่งดงามยิ่ง คู่กับกำแพงพลูจีบ วงการนับเป็นองค์หนึ่งในชุดเบญจภาคี...ก่อนพระกำแพงซุ้มกอ

เทียบกับพิมพ์ลีลา พระฝั่งทุ่งเศรษฐีด้วยกัน พุทธลักษณะพิมพ์ทรงประณีต องค์พระผสมระหว่างความอ่อนไหวความขึงขัง พระอุระผึ่งผายลักษณะมหาบุรุษ ไม่เอี้ยวองค์เหมือนพลูจีบ พระนาภีเรียวเล็ก พระเพลาท่อนล่างเรียวงาม องค์พระสถิตบนพื้นรูปยาวมน

...

นับเป็นศิลปะสุโขทัยโดยแท้

ด้านหลังพระอูมเล็กน้อยถึงอูมมากสีบางองค์เหลืองเข้มคล้ายเม็ดขนุน จึงถูกเรียกกำแพงเม็ดขนุน

องค์พระอยู่ในซุ้มประภามณฑล เนื้อดินส่วนมากละเอียดแกร่ง ว่านดอกมะขามที่ปรากฏละเอียดมาก

ประวัติการค้นพบ พบครั้งแรกที่กรุวัด พระบรมธาตุ เมื่อ พ.ศ.2392 พบครั้งต่อมา พ.ศ.2470 พบครั้งต่อมาที่กรุวัดพิกุลและกรุอื่นๆ

ในฝั่งนครชุม รวมถึงบริเวณลานทุ่งเศรษฐี เช่นวัดซุ้มกอ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดฤาษี ฯลฯ

ต่อมา เมื่อ พ.ศ.2505 พบเป็นพระเนื้อชิน จากกรุวัดอาวาสน้อย วัดป่ามืด ในเขตอรัญญิก ฝั่งชากังราว (ฝั่งเมืองกำแพงเพชร ปัจจุบัน)

เท่าที่พบกำแพงเม็ดขนุน มีหลายขนาดแต่พอจะแบ่งง่ายๆเป็นสองขนาด พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก

องค์ในคอลัมน์วันนี้ เป็นพิมพ์นิยมมาตรฐาน คุ้นตา...ทุกเส้นสายลายพิมพ์ถูกต้อง ตำหนิพิมพ์ เส้นขีดขวาง ในร่องเส้นซุ้ม นิ้วชี้ขวาที่ขนานไปตามท่อนพระบาทยาว...ตอนปลายกระดกเข้าหาองค์พระเล็กน้อย

พระกรขวาส่วนที่ยกทาบพระอุระ...กลืนหาย ลูกบอลในช่องว่างเหนือปลายพระบาทขวา

ตำหนิเม็ดเนื้อเกิน นอกขอบซุ้มด้านซ้าย รวมไปถึงปีกเนื้อที่เกิน...ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ...ไม่มีจุดสะดุดตาเลย

พระกำแพงเม็ดขนุนองค์นี้ สภาพสมบูรณ์ค่อนข้างมาก ส่วนพระพักตร์ติดพิมพ์ชัด เห็นขอบพระนลาฏเป็นปีกกา พระเนตร พระนาสิก พระโอษฐ์ รำไร พระกรรณสองข้างติดชัด

ด้านหลัง รอยลายมือ จะงอยรอยมือจับ (ตอนยกพระจากพิมพ์) ก็ดูกลมกลืนตามธรรมชาติของกำแพงเม็ดขนุนแท้...มาตรฐาน ใช้เป็นองค์ครูเทียบเคียงได้

ของปลอม...ทำได้ใกล้เคียงมาก ถ้าจะซื้อด้วยราคาแพง ผ่านเซียนวงการดีกว่า จะซื้อด้วยตาตัวเอง.

O พลายชุมพล O