ขุนพลเจอเป.
แฟนานุแฟนที่เคยอ่านหรือชมภาพยนตร์เรื่องมังกรหยก จากบทประพันธ์ของ “กิมย้ง” คงจำได้ดีถึงอาจารย์คนแรกที่สอนวิชายิงธนูให้เด็กน้อยก๊วยเจ๋ง ผู้เป็นตัวเอกของเรื่อง
เจอเปผู้นี้มีตัวตนอยู่จริง และประกอบวีรกรรมไว้มากมาย เรื่องของจอมธนูผู้นี้จะเป็นอย่างไรวันนี้ คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียล โดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน จะเล่าให้ฟังกันครับ
ดินแดนมองโกเลีย ในปี ค.ศ.1201 สงครามเพื่อแย่งชิงอำนาจในสมาพันธ์ชนเผ่าคามัคมองโกล (Khamag Mongols) ที่ดำเนินมานานนับสิบปี ใกล้จะถึงจุดชี้ขาด
เตมูจิน หัวหน้าเผ่าคียัต ซึ่งเป็นหนึ่งในเผ่าย่อยของสมาพันธ์ ได้รับเลือกจากบรรดาหัวหน้าเผ่าย่อยที่อยู่ในอาณาเขตทางตะวันออก ให้ขึ้นเป็นข่านแห่งมองโกล ขณะที่สหายร่วมสาบานในวัยเด็ก ที่บัดนี้กลายมาเป็นศัตรูตัวฉกาจของเขา จามูฮา หัวหน้าเผ่าจาดารัน ก็ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาหัวหน้าเผ่าย่อยทางตะวันตก รวมถึงตาร์กูได หัวหน้าเผ่าไทชีอู หนึ่งในสามเผ่าใหญ่ของชนเผ่ามองโกลและเป็นศัตรูตัวฉกาจของ
เตมูจิน ให้เป็นเกอร์ข่าน (Gur Khan) หรือผู้นำสูงสุดเช่นกัน
...
ฤดูใบไม้ร่วง ปี ค.ศ.1201 ข่านเตมูจินนำทหารม้าคียัตและชนเผ่าตะวันออก รวมกว่าสองหมื่นนาย พร้อมด้วยทหารม้าเผ่าเคอเรอิทที่เป็นพันธมิตรอีกหลายพันนาย เข้าเผชิญหน้ากับจามูฮา ที่มีทหารม้ากว่าสามหมื่น โดยนอกจากเผ่าจาดารัน เผ่าไทชีอูและชนเผ่าตะวันตกแล้ว จามูฮายังได้กำลังเสริมจากศัตรูเก่าของเตมูจินที่เหลือรอดจากการถูกพวกมองโกลกวาดล้างไปก่อนหน้านั้น คือชนเผ่าตาร์ตาและชนเผ่าเมอร์คิทด้วย
สองฝ่ายเปิดศึกใหญ่ในการรบที่เรียกว่า ศึกสิบสามปีก ซึ่งถือเป็นศึกที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ชนเผ่ามองโกล โดยหลังการรบนองเลือดจบลง เตมูจินก็ได้รับชัยชนะ สามารถทำลายล้างศัตรูจนย่อยยับ จามูฮาหนีรอดไปได้พร้อมกับทหารไม่กี่คน ส่วนตาร์-กูไดถูกฆ่าระหว่างหลบหนี ซึ่งชัยชนะครั้งนี้ทำให้เตมูจินได้เป็นข่านของสมาพันธ์มองโกลอย่างสมบูรณ์
ระหว่างการรบในศึกสิบสามปีก เตมูจินถูกธนูยิงเฉี่ยวซอกคอจนบาดเจ็บสาหัส หลังชนะศึก เขาจึงสั่งให้สอบสวนเหล่าเชลย โดยประกาศว่าจะหาตัวคนที่ใช้ธนูยิงม้าของเขาตายระหว่างทำการรบ ซึ่งสาเหตุที่เตมูจินไม่ให้ประกาศไปตามความจริง เพราะเกรงศัตรูจะรู้ว่าเขาได้รับบาดเจ็บ
หลังออกประกาศไป นักรบหนุ่มชื่อ เซอการ์ได จากตระกูลเบซุดแห่งเผ่าไทชีอู ได้ออกมาแสดงตัวว่าเขาเป็นคนยิงธนู และตั้งใจยิงธนูดอกนั้นใส่เตมูจิน ไม่ใช่ม้า
เตมูจินได้ถามเซอการ์ไดว่าจะให้ลงโทษเช่นไรสำหรับความผิดร้ายแรงครั้งนี้ นักรบหนุ่มได้ตอบกลับอย่างไม่สะทกสะท้านว่า “หากท่านปรารถนาให้ข้าตาย วันนี้ก็คือวันสุดท้ายของข้า แต่หากวันนี้ ชีวิตข้าไม่ได้สิ้นสุด ข้าขอสาบานว่าจะรับใช้ท่านด้วยความภักดีไปตลอดชีวิต”
ท่าทีที่อาจหาญของอีกฝ่าย ทำให้เตมูจินที่ประเมินคุณค่าของคนจากความกล้าหาญและความสามารถ รู้สึกชื่นชมความกล้าและฝีมือการยิงธนูของเซอการ์ได จึงยกโทษให้และรับนักรบหนุ่มเป็นนายทหาร โดยเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า เจอเป ซึ่งในภาษามองโกลแปลว่า ลูกธนู
หลังสวามิภักดิ์ต่อเตมูจินเจอเปได้แสดงฝีมือในการศึกจนเป็นที่ประจักษ์หลายครั้ง โดยหลังจากมาอยู่กับเตมูจินได้เพียงสามปี เขาก็ได้เป็นหนึ่งในสามยอดขุนพลแห่งมองโกล ร่วมกับมูวาลีและสุโบไต
หลังชัยชนะในศึกสิบสามปีก อำนาจของเตมูจินก็แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและภายในไม่กี่ปี ทั้งศัตรูและผู้ที่ต่อต้านเขาก็ถูกกำจัดจนหมดสิ้น รวมทั้งจามูฮา อดีตเพื่อนร่วมสาบาน
ปี ค.ศ.1206 เตมูจินสามารถผนวกรวมสมาพันธ์ชนเผ่าทั้งห้าแห่งท้องทุ่ง คือ มองโกล เคอเรอิท เมอร์คิท ตาร์ตา ไนมาน ได้สำเร็จและสถาปนาอาณาจักรมองโกล พร้อมกับขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด และใช้ชื่อว่า ชินกีสข่าน (หรือ เจงกีสข่าน)
...
หลังสถาปนาอาณาจักร เจงกีสข่านยกทัพไปทำศึกกับอาณาจักรซีเซี่ยของชาวตันกุตและบีบให้ซีเซี่ยยอมเป็นประเทศราชได้ในปี ค.ศ.1209 ต่อมาในปี ค.ศ.1211 เจงกีสข่านก็เปิดศึกกับอาณาจักรต้าจินของชนชาติหนี่เจิน ซึ่งเวลานั้นได้ปกครองภาคเหนือของจีน
ในช่วงแรกของสงครามมองโกล-ต้าจินเจอเปได้ร่วมกับสุโบไต รับหน้าที่คุมทัพปีกซ้ายและเข้ายึดเมืองของต้าจินได้สองเมือง ก่อนทำลายกองทัพต้าจินที่เมืองหวู่ซา จากนั้นจึงไปรวมพลกับกองทัพใหญ่ของเจงกีสข่านเพื่อเข้าทำศึกที่เขาเย่หู่หลิน โดยทหารมองโกลหนึ่งแสนนาย สามารถทำลายล้างทัพใหญ่ของต้าจินซึ่งมีรี้พลถึงสี่แสนได้ที่นั่น
หลังการรบที่เย่หู่หลิน เจอเปได้รับคำสั่งให้เข้าตีเมืองเหลียวหยาง ขณะที่ทัพใหญ่ของมองโกลบุกยึดพื้นที่รอบนครจงตู เมืองหลวงของต้าจินในการรบที่เหลียวหยางนั้น แม้ว่ากองทัพหนี่เจินจะมีกำลังมากกว่า แต่พวกเขากลับเลือกที่จะขังตัวเองอยู่ในเมือง โดยไม่ยอมออกรบเพื่อหมายรอให้ฝ่ายมองโกลอ่อนแรงแล้วจึงเข้าโจมตี เจอเปรู้ทันความคิดข้าศึก จึงทำอุบายลวงอีกฝ่ายออกนอกเมือง โดยแกล้งทำเป็นถอยทัพ เมื่อพวกหนี่เจินเห็นดังนั้น จึงยกพลออกไล่ตามหมายโจมตี ทว่าฝ่ายมองโกลได้ทิ้งทรัพย์สินมีค่าไว้กลาดเกลื่อน ทำให้พวกหนี่เจินที่ตามมามัวเก็บสมบัติจนเกิดความวุ่นวาย เปิดโอกาสให้กองทัพมองโกลย้อนกลับมาโอบล้อมและเข้ากวาดล้างทหารหนี่เจินจนราบคาบ ก่อนจะยกทัพกลับไปยึดเมืองเหลียวหยางได้สำเร็จ
จากนั้นในปี ค.ศ.1213 เจงกีสข่านส่งเจอเปนำทัพไปตีด่านจูหยง โดยหลังจากตีได้ เจอเปได้นำทัพไปรวมกับมูวาลีและสุโบไต เข้าโจมตีและยึดเมืองต่างๆทางตะวันออกและบีบให้อาณาจักรต้าจินยอมจำนนในปี ค.ศ.1214 และทำสัญญาสงบศึกพร้อมกับถวายเครื่องบรรณาการเพื่อให้มองโกลยกทัพกลับ (ทว่าไม่กี่ปีต่อมา กองทัพมองโกลก็กลับมาอีกครั้ง หลังเจงกีสข่านทรงทราบข่าว จักรพรรดิองค์ใหม่ของหนี่เจิน ย้ายเมืองหลวงหนีข้ามแม่น้ำหวงเหอลงไปทางใต้และมีท่าทีจะรวมพลทำศึกอีกครั้ง โดยทัพมองโกลได้เข้าปิดล้อมและทำลายเมืองจงตู (ปักกิ่งในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ.1218)
...
ปี ค.ศ.1216 คุชลัก โอรสของตาร์ยังข่าน อดีตผู้นำสมาพันธ์ชนเผ่าไนมานที่หนีไป หลังตาร์ยังข่านถูกสังหารและชนเผ่าไนมานถูกกองทัพมองโกลพิชิต เมื่อปี ค.ศ.1204 ได้ไปลี้ภัยอยู่ที่อาณาจักรคาราคีไต หรือซีเหลียว
เยลู่จื่อลู่กู กษัตริย์แห่งคาราคีไตทรงโปรดปรานคุชลักมาก จนยกพระธิดาให้ ทว่าหลังเป็นราชบุตรเขยได้ไม่นาน คุชลักก็ยึดอำนาจและจับเยลู่จื่อลู่กูคุมขังจนสิ้นพระชนม์ ซึ่งการสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์ ทำให้เกิดแรงสะเทือนในคาราคีไต นอกจากนี้ คุชลักซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ ยังมีนโยบายกดขี่ชาวมุสลิมในอาณาจักรจนทำให้เกิดการต่อต้าน ซึ่งคุชลักก็ได้สั่งให้จับอิหม่ามแห่งโฮตัน ตรึงไว้กับประตูโรงเรียนสอนศาสนาจนตาย เพื่อข่มขวัญพวกที่ต่อต้าน แต่กลับทำให้ความไม่พอใจแผ่ขยายมากขึ้น
ต่อมาในปีเดียวกัน คุชลักได้ส่งกองทัพเข้าตีอัลมาลิค ซึ่งเป็นแคว้นของชาวอุยกูร์ ที่ยอมสยบให้เจงกีสข่าน พวกอุยกูร์จึงส่งสารมาขอความช่วยเหลือ โดยเมื่อเจงกีสข่านได้รับสาร จึงมีบัญชาให้เจอเปนำทหารม้าสองหมื่นไปจัดการกับคุชลัก
...
เจอเปนำทัพเผชิญหน้ากับทัพม้าสามหมื่นของคุชลักและบดขยี้อีกฝ่ายจนยับเยิน ก่อนบุกถึงกรุงบาลาซากัน เมืองหลวงของคาราคีไต หลังพ่ายศึก คุชลักได้นำทหารที่เหลือหนีออกจากเมืองไปทางใต้ ก่อนไปตั้งมั่นที่เมืองคาชการ์ ทว่าเมืองนี้มีพลเมืองส่วนใหญ่เป็นมุสลิมที่ไม่พอใจคุชลัก จึงเกิดการกระด้างกระเดื่อง
เมื่อเจอเปทราบถึงความขัดแย้งในคาราคีไต จึงปล่อยข่าวไปว่า ทัพมองโกลมาเพื่อช่วยชาวมุสลิมกำจัดคุชลักและยังให้ประกาศด้วยว่า เจงกีสข่านทรงให้เสรีภาพแก่ทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน (ความข้อนี้เป็นเรื่องจริง) ซึ่งไม่นานข่าวนี้ก็ไปถึงเมืองคาชการ์ และเมื่อเจอเปนำทัพเข้าใกล้คาชการ์ พวกชาวเมืองก็ลุกฮือขึ้นก่อกบฏรุมฆ่ากองทหารของคุชลัก ขณะที่คุชลักได้ตัดสินใจขี่ม้าหนีออกจากเมืองตามลำพัง แต่ถูกพวกนายพรานจับตัวได้แถบเทือกเขาปาร์มีและถูกส่งตัวให้พวกมองโกล คุชลักถูกตัดหัวและอาณาจักรคาราคีไตก็สวามิภักดิ์ต่อกองทัพมองโกล
เมื่อเจงกีสข่านทรงทราบว่าเจอเปได้สังหารคุชลักและพิชิตคาราคีไตแล้ว แม้จะทรงยินดีมาก แต่พระองค์ก็ได้ตรัสว่า เจอเปเก่งกาจยิ่งนัก จนพระองค์ไม่แน่ใจว่า วันหนึ่งเขาจะมีความทะเยอทะยาน จนคิดกบฏต่อพระองค์หรือไม่
เมื่อเจอเปได้ทราบเรื่อง ก็รีบนำทัพกลับมาอย่างรวดเร็วพร้อมกับนำม้าสีขาวล้วน ซึ่งเป็นม้าแบบเดียวกันกับเจงกีสข่านขี่ในวันที่พบกับเจอเปครั้งแรก จำนวน 100 ตัว มาถวายเจงกีสข่าน และเมื่อเจงกีสข่านได้เห็นเช่นนั้น ก็ไม่ทรงสงสัยในความภักดีของเขาอีก
ในปี ค.ศ.1219 หลังจากโมฮัมเหม็ด ชาห์ สุลต่านแห่งอาณาจักรควาเรซ ในเอเชียกลาง สังหารทูตของเจงกีสข่านที่ไปทวงความยุติธรรม กรณีเจ้าเมืองโอตราของควาเรซ ได้สั่งประหารคาราวานพ่อค้าชาวมองโกล 500 คน ด้วยข้อหาเป็นสายลับ เจงกีสข่านจึงนำทหาร 120,000 นาย บุกควาเรซซึ่งมีกำลังทหารอยู่ทั่วทั้งอาณาจักรกว่าสามแสนคน
เจอเปได้รับคำสั่งให้คุมทัพข้ามเทือกเขาเทียนชานเข้าโจมตีหุบเขาเฟอร์กานา โดยเขาได้นำทัพบุกข้ามเทือกเขาในฤดูหนาวซึ่งมีหิมะหนาถึงห้าฟุตและเอาชนะกองทัพทหารม้าห้าหมื่นคนของควาเรซ ก่อนจะบุกลงใต้และตัดอาณาจักรเป็นสองส่วน ก่อนย้อนกลับไปสมทบกับทัพใหญ่ของเจงกีสข่านที่กรุงซามาร์คันด์ เมืองหลวงของควาเรซ
การบุกโจมตีของทัพเจอเป ทำให้โมฮัมเหม็ด ชาห์ ไม่สามารถรวมกำลังจากเมืองต่างๆได้ จากนั้นเจงกีสข่านก็มีบัญชาให้เจอเปและสุโบไตนำทหารสองหมื่นออกไล่ล่าโมฮัมเหม็ด ชาห์
เจอเปและสุโบไตนำทัพไล่ล่าโมฮัมเหม็ด ชาห์ ที่หนีไปทั่วอาณาจักร จนท้ายที่สุดพระองค์ก็หนีข้ามไปอยู่บนเกาะเล็กๆกลางทะเลสาบแคสเปียนและป่วยตายที่นั่น
แม้จะจับตัวโมฮัมเหม็ด ชาห์ ไม่ได้ แต่การไล่ล่าของสองแม่ทัพ ก็ทำให้โมฮัมเหม็ด ชาห์ ไม่สามารถตั้งฐานเพื่อรวบรวมกองทัพมาสู้กับมองโกลได้
ในปี ค.ศ.1223 ขณะที่เจอเปและสุโบไตไล่ล่าชาห์แห่งควาเรซมาถึงริมทะเลสาบแคสเปียน และไม่อาจตามจับชาห์ได้ แม่ทัพทั้งสองจึงตัดสินใจเคลื่อนทัพสำรวจพื้นที่รอบทะเลสาบก่อนกลับไปมองโกล
เจอเปและสุโบไตนำทหารม้าสองหมื่นเคลื่อนทัพเป็นระยะทางถึง 12,300 กิโลเมตร และเอาชนะทุกกองทัพตามเส้นทางที่ผ่าน ทั้งสองได้พิชิตกองทัพชาวจอร์เจีย ชาวคูมานและชนเผ่าต่างๆแถบคอเคซัส สร้างตำนานการรบที่ยากจะมีใครเทียบได้
ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่คือ การรบกับกองทัพเคียฟและรัสเซีย ที่แม่น้ำคัลคา ในวันที่ 31 พฤษภาคม ปี ค.ศ.1223 ซึ่งกองทหารม้ามองโกลสองหมื่นนาย ที่นำโดยเจอเปและสุโบไตพิชิตทหารหกหมื่นนาย ที่นำโดยเจ้าชาย 11 พระองค์ โดยสามพระองค์สิ้นพระชนม์ในสนามรบพร้อมทหารเกือบห้าหมื่น ขณะที่อีกหกพระองค์ถูกจับ และถูกประหารด้วยการใช้แผ่นไม้กดทับจนสิ้นพระชนม์ ตามธรรมเนียมมองโกลที่จะสังหารชนชั้นสูงโดยไม่ให้เลือดตกถึงพื้น
หลังการรบที่แม่น้ำคัลคา เจอเปและสุโบไตได้เคลื่อนทัพกลับมองโกล พร้อมเชลยศึกและทรัพย์สินจำนวนมาก ทว่าระหว่างยกทัพกลับ แม่ทัพเจอเปได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ โดยเอกสารมองโกลได้บันทึกไว้ว่า เจอเปเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับมองโกเลีย แต่ไม่มีการบอกสาเหตุที่แน่ชัด เดิมเชื่อกันว่า เขาอาจเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย แต่ต่อมาได้มีนักประวัติศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า เจอเปอาจเสียชีวิตจากการซุ่มโจมตีของพวกคิปชัค อย่างไรก็ตาม สาเหตุการตายที่แท้จริงของเจอเป ยังคงเป็นเรื่องลึกลับ
ในฐานะของแม่ทัพผู้หนึ่ง เจอเปได้สร้างตำนานของขุนพลผู้พิชิต ทั้งในสมรภูมิที่จีน ที่เอเชียกลาง และที่ยุโรป โดยเปรียบเสมือนลูกธนูที่พุ่งทะลวงไป โดยไม่มีสิ่งใดขวางได้.
ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน
โดย : วิภู เอี่ยมน้อย