...“ขยะของใครบางคน คือสิ่งมีค่าของอีกหลายคน”
วลีนี้ตรงกับวิถีชีวิตชาวเมือง “บังกุน”-- Bangun หมู่บ้านเล็กๆและยากจนบนเกาะชวา ถิ่นพำนักประชากรมากที่สุดของอินโดนีเซีย ทั้งเป็นที่ตั้งกรุงจาการ์ตาและเมืองสุราบายา
ชาวบ้านเมืองบังกุนส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ครัวเรือน ดำรงชีพด้วยการคัดแยกขยะพลาสติก ขวด กระดาษ และอะลูมิเนียม นำส่งโรงงานรีไซเคิล
กระแสโลก รัฐบาลเกือบทุกประเทศ ต่างเพิ่มให้ความสำคัญปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำจัดขยะหลากชนิดประเภท โดยเฉพาะ “ขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง”--Single–use plastic
...
แต่ปัญหาใหญ่คือ พื้นที่ทิ้งขยะและแหล่งกำจัดขยะ หายากขึ้นเรื่อยๆเพราะต้องถูกขยับออกไกลจากชุมชุนเมือง ทั้งถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง อีกทั้งกระบวนการแยกประเภทและการแปรรูปขยะแต่ละชนิดมีไม่มากเพียงพอรองรับปริมาณขยะมากมหาศาล
ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ จีนในฐานะมหาอำนาจชาติยิ่งใหญ่ในกระบวนการรีไซเคิลขยะมากที่สุดของโลก ตัดสินใจ “หยุดนำเข้าขยะจากต่างประเทศ” ทำให้ปริมาณขยะรีไซเคิลเกือบทุกประเภทจากทั่วโลก ถูกเปลี่ยนเป้าหมายการเดินทางมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น
ขยะจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ถูกลำเลียงออกมาจากกลุ่มชาติตะวันตก ไล่ตั้งแต่สหรัฐฯ อังกฤษ เบลเยียม และกลุ่มชาติตะวันออกกลาง
อินโดนีเซีย คือหนึ่งในชาติ “นำเข้าขยะ” มาก ที่สุดตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงปี 2560 อินโดนีเซียนำเข้าขยะเพิ่มจากเดือนละราว 10,000ตัน เป็นเดือนละกว่า 35,000 ตัน เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว
เฉพาะพื้นที่หมู่บ้าน “บังกุน” ทุกวันนี้รถบรรทุกขยะจากต่างประเทศ เดินทางเข้าออกหมู่บ้านวันละมากกว่า 40 เที่ยว นำขยะซึ่งประกอบด้วยพลาสติก ขวด กระดาษ และอะลูมิเนียม เททิ้งกองเป็นภูเขาสูงเกือบถึงหลังคาบ้านของชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านคัดแยกประเภทขยะ
แม้งานคัดแยกขยะจากต่างประเทศไม่น่ารื่นรมย์นักสำหรับคนทั่วไป แต่วิถีชีวิตผู้คนที่นั่นยอมรับมันและสร้างรายได้แก่ชาวบ้านใช้เลี้ยงครอบครัว
งานคัดแยกขยะของชาวบ้านแต่ละวัน แม้ทำเงินได้ไม่กี่ดอลลาร์สหรัฐฯหรือไม่เกิน 200 บาท แต่ความหวังเล็กๆน้อยๆของชาวบ้านคือ อาจเจอของมีค่าปะปนมากับขยะ รวมถึงธนบัตรสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เงินยูโร หรือเงินปอนด์อังกฤษ ถ้าโชคดีกว่านั้นอาจพบของมีค่าอย่างอื่น
ขยะพลาสติก ขวด กระดาษ และอะลูมิเนียม หลังถูกคัดแยกจะถูกนำส่งโรงงานรีไซเคิล ส่วนขยะที่เหลือและรีไซเคิลไม่ได้แล้วถูกนำส่งตามโรงงานหลายแห่ง นำไปเป็น “เชื้อเพลิง” แอบเผาเวลากลางคืน กลายเป็นมลพิษทางอากาศขึ้นอีก
...
...
ขยะบางส่วนถูกทิ้งลงทะเล นั่นทำให้อินโดนีเซียคือชาติผู้ก่อมลภาวะทางทะเลมากอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน แม้รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจังตั้งเป้าลดการทิ้งขยะลงทะเลให้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 นโยบายอื่นถูกนำมาใช้ในบางเมืองของอินโดนีเซียคือ แลกขยะพลาสติกกับการโดยสารรถยนต์สาธารณะฟรี ส่วนแหล่งท่องเที่ยวเกาะบาหลีบังคับใช้แล้ว “มาตรการห้ามใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง”
...
แต่สิ่งที่ยังตามหลอกหลอนชาวบ้านในพื้นที่คัดแยกขยะ คือ ปัญหาสุขภาพ ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณแต่ละปีมหาศาลเยียวยารักษาผู้ป่วยผลกระทบจากมลพิษสิ่งแวดล้อม...
โหรกระแส