ก่อนจะไปถึงเรื่องการจัดการขยะ การแยกขยะ การเก็บขยะ การกำจัด หรือการนำประโยชน์ของขยะไปใช้สอย วันนี้เราขอตีแผ่เรื่องนี้เป็นอันดับแรกก่อน นั่นคือ "พฤติกรรมการทิ้งขยะของคนไทย" ใครทิ้งขยะลงถังทุกครั้งยกมือขึ้น! คิดเอาเองว่า...น่าจะยกสักประมาณ 10 ล้านคน ขณะที่คนไทยมีประชากรเกือบจะ 70 ล้าน แค่เทียบตัวเลขก็นึกภาพของ "กองขยะ" กองเท่าภูเขาออกแล้วใช่มั้ย?
ย้อนถามว่า...เพราะอะไร ขยะในประเทศไทยถึงมากมายก่ายกองขนาดนั้น จากสถิติสถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนต่อวัน ใน พ.ศ.2560 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ประมาณ 27.37 ล้านตัน หรือ 74,998 ตันต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นั่นเพราะ...เราไม่รู้จักคุณค่าของสิ่งต่างๆ ใช่หรือไม่ เราจึงถาโถมที่จะใช้ทุกอย่างใหม่ โดยไม่คำนึงว่าอะไรมีค่า และอะไรหมดค่า
การใช้พลาสติกต่างๆ น่าจะเป็นชอยส์แรกที่เรานึกถึง เต็มมันทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้ว ยิ่งจุดไหน สถานที่แห่งไหนไม่มีถังขยะแล้วล่ะก็ ทุกคนก็สามารถเขวี้ยงถุงพลาสติก หรือขยะต่างๆ ออกจากมือได้อย่างง่ายดาย แล้วเราจะทำยังไงให้ขยะน้อยลง? อันดับแรก...เราทุกคนต้องมาสร้างจิตสำนึกและรู้จัก "ขยะ" กันให้ดีก่อน เพื่อที่เราจะได้รู้จักคุณค่าของเจ้าขยะนั่น
ขยะ คือ สิ่งของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต การอุปโภค และการบริโภค ซึ่งเสื่อมสภาพจนใช้การไม่ได้ หรือไม่ต้องการใช้แล้ว บางชนิดเป็นของแข็งหรือเป็นกากของเสีย (Solid waste) ซึ่งขยะสามารถทำให้เกิดมลพิษ และเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งทางกายและทางจิตใจได้
...
เริ่มนึกภาพออกแล้วใช่มั้ย...อะไรคือขยะ ลองนึกเล่นๆ เรามีขยะผ่านมือเราในแต่ละวันกี่ชิ้น ตอบได้ไม่มีรางวัลแจก แค่อยากจะให้ทุกคนคิดในใจว่า มากหรือน้อย? แล้วจะจัดการอย่างไรกับมันต่อ แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นจัดการ เราจะพาคุณมารู้ลึกว่า...คนไทยมีพฤติกรรมในการทิ้งขยะอย่างไร?
1. มักง่าย
เราจะพูดในหัวข้อนี้ ด้วยความสัตย์จริง หรือสร้างภาพ เอาจริงๆ ทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจ บางคนก็ทิ้งๆ เพื่อให้ขยะออกไปจากตัวเองเร็วที่สุด บางคนก็ทิ้งแบบไม่สนใจว่ามันใช่ที่ทิ้งขยะหรือไม่ หรือมันจะไม่ลงถัง หรือตกหล่นคงค้างประการใด ก็ไม่มีความหมาย หากไม่มีสายตาคู่ใดมองอยู่ หลายคนย่อมเพิกเฉย ประหนึ่งไม่มีอะไรผิดแผกแต่อย่างใด
พูดมาขนาดนี้แล้ว ลองไตร่ตรองดูให้ดี แล้วพรุ่งนี้เริ่มต้นใหม่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความมักง่ายในการทิ้งกันเถอะ ด้วยการใส่ใจขยะในมือคุณ พิจารณาให้ดีก่อนที่จะทิ้งมันไป
2. ไม่แยกขยะก่อนทิ้ง
ขยะ...มันก็มีอยู่หลายประเภท ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือขยะที่เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม อันนี้ค่อนข้างน่ากลัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็มีวิธีจัดการขยะ ด้วยการแยกขยะให้ถูกต้องก่อนจะทิ้งลงถัง
ยกตัวอย่าง How To แยกขยะก่อนทิ้ง โดยแยกได้ดังนี้
1. ขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เศษใบไม้ เศษหญ้า
2. ขยะรีไซเคิล เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก อะลูมิเนียม และยาง
3. ขยะอันตรายหรือของเสียอันตรายจากชุมชน เช่น ถ่านไฟฉาย หลอดไฟฟ้า
4. ขยะทั่วไป เช่น เศษผ้า เศษไม้ เศษวัสดุก่อสร้าง เถ้าจากการเผาไหม้และอื่นๆ
3. ไม่คิดนำกลับไปใช้ใหม่
ในหัวข้อนี้ ก็หมายถึง...ขยะที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ นั่นคือ "ขยะรีไซเคิล" นั่นเอง รู้ใช่มั้ยว่ามันมีราคา พูดเลย...ขยะทำเงิน! ตาสีตาสา มีอันจะกินก็เพราะขยะพลาสติก อย่าง แก้ว กระดาษ พลาสติกต่างๆ นี่เอง
How To ลองเก็บขวดน้ำที่ดื่มหมดแล้ว ในแต่ละวันแล้วไปขายดูนะคะ ระยะเวลา 1 เดือน คุณแทบจะได้เงินพอสำหรับซื้อชาไข่มุก 1 แก้วเลยล่ะ
4. กำจัดขยะผิดๆ
อันนี้ค่อนข้างอันตราย ขยะบางอย่างส่งกลิ่นเหม็น พอนานวันอาจกลายเป็นพิษ ถ้าเราสะสมมันไว้ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม สักวันมันจะระเบิด หรือไฟลุกไหม้ จนลุกลามสู่บ้านช่องเราได้เลย ดังนั้นอย่าละเลยในสิ่งเหล่านี้ และการกำจัดขยะผิดวิธี อาจนำมาซึ่งโรคภัย อันตรายถึงชีวิตได้ด้วย
แนะนำว่า...ควรศึกษาการกำจัดขยะก่อน แล้วค่อยจัดการอย่างถูกวิธี ไม่อย่างนั้นอาจสร้างความเสียหายให้อีกมากมายตามมาอีกด้วย
คิดก่อนทิ้ง นึกก่อนซื้อ ถุงพลาสติกไม่ควรนำกลับ สำคัญคือ...ไม่ต้องเอามาจากร้านเลย ร้านค้าก็ลดต้นทุนไปได้อีก เราก็ได้ลดความร้อนให้กับโลกใบนี้ด้วย
จิตสำนึกที่ดีสร้างได้ ทิ้งขยะแบบใช้สมอง ไม่นานประเทศไทยเราก็จะน่าอยู่เหมือนญี่ปุ่นอย่างแน่นอน
เริ่มต้นไม่สำคัญ เท่ากับเริ่มที่ตัวคุณ!
จบนะ...บัยส์.