อีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่หลายๆ คนอาจมองข้ามไป กับสถานที่ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะปัญญา เพื่อการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ ณ "อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ" สถานการศึกษาที่รวบรวมองค์ความรู้ไว้จำนวนมาก ไม่แต่หนังสือ คอมพิวเตอร์ โรงภาพยนตร์ ทุกอย่างที่สถานที่เพื่อรองรับการเรียนรู้ของหนูๆ นักเรียน นักศึกษาแห่งภูมิภาคอีสานตอนล่าง พร้อมทั้งยังทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย ที่รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ด้วย

"เมืองเกษตรอินทรีย์ บุคลากรมีคุณภาพ ประชาชนมีส่วนร่วม ศูนย์รวมการศึกษา ก้าวหน้าเทคโนโลยี แหล่งท่องเที่ยวมากมี สืบสานประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น" คือ วิสัยทัศน์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ บ่งบอกชัดเจนถึงจุดเด่นด้านการพัฒนาคน การศึกษาเรียนรู้ และเทคโนโลยี โดยไม่ละทิ้งภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่น ทั้งนี้ "อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ" ถือเป็นเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ล่าสุด ภายใต้ความร่วมมือของ อุทยานการเรียนรู้ TK park และ อบจ.ศรีสะเกษ ที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า ศรีสะเกษเป็นเมืองรองที่มีความสำคัญทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจของภาคอีสานตอนล่าง โดยเฉพาะได้ถูกยกให้เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยขอมโบราณ จึงนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้

...

TK park จึงพร้อมสนับสนุนให้ "อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ" หรือ "Sisaket Knowledge Park" (SSK PARK) เป็นอุทยานการเรียนรู้ระดับจังหวัดแห่งที่ 26 เพื่อใช้ในการพัฒนาบุคลากรในชุมชนให้มีนิสัยรักการอ่าน และการเรียนรู้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านองค์ความรู้ที่หลากหลายและรอบด้าน รวมทั้งการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 และยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งนับเป็นการนำพื้นที่การเรียนรู้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ให้สมกับเป็นห้องสมุดที่มีชีวิต

นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า "ด้วยความที่เราต้องการให้เกิด "สังคมการเรียนรู้" อย่างแท้จริง สถานที่นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้กับทุกคน ที่ต้องการเรียนรู้เรื่องต่างๆ ที่ไม่ใช่แม้แต่วัยเด็ก ได้เริ่มต้นเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่ตัวเองสนใจ โดยไม่จำเป็นต้องศึกษา หรือหาความรู้ได้จากห้องเรียนเท่านั้น ด้วยหนังสือที่มีอยู่หลากหลาย จะช่วยต่อยอดองค์ความรู้ให้กับทุกคนต่อไป พร้อมทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีในการสร้างระบบสมาชิก การจัดหาหนังสือ ชุดนิทรรศการ สื่อการเรียนรู้ต่างๆ และยังจะมีการพัฒนากิจกรรม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนด้วย โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า เราหวังว่า เราจะกลายเป็นครูใหญ่ ในการแนะนำให้ทุกที่ มีศูนย์การเรียนรู้ร่วมกันเกิดขึ้นในทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ และทุกชุมชน" 

ด้านนายวิชิต ไตรสรณกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับคณะผู้บริหาร และสมาชิกสภาจังหวัดศรีสะเกษ ได้เล็งเห็นว่า "อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ" เปรียบเสมือนโลกใบใหญ่แห่งการเรียนรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่ทันสมัยและรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงมีนโยบายในการจัดตั้งขึ้น เพราะมุ่งหวังให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ของอีสานตอนล่าง เป็นแหล่งการเรียนรู้ในทุกๆ ด้าน เป็นศูนย์กลางให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้ ศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พบปะสังสรรค์เพื่อสร้างความเข้าใจ ตลอดจนรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ของปราชญ์ท้องถิ่นและองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายในชุมชนให้เป็นหมวดหมู่และชัดเจนเป็นรูปธรรม ให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลเพื่อการศึกษาและเรียนรู้ต่อไป

...

"หนึ่งในจุดเด่นของอุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ นั่นก็คือ ทำเลที่ตั้ง ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองทำให้เกิดการเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น เดินทางสะดวก สามารถเดินทางเข้ามาใช้บริการของอุทยานการเรียนรู้ได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะได้ร่วมมือกับชุมชน เป็นแหล่งจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนพัฒนาความคิด พัฒนาทักษะ สร้างสรรค์จินตนาการ และเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป ซึ่งเราหวังว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนในจังหวัด และจังหวัดข้างเคียง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานเข้าใช้บริการ เยาวชนและนักเรียน นักศึกษา เข้าศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ทำงานเดี่ยวและงานกลุ่มที่ได้รับมอบหมาย ตลอดจนเข้าร่วมกิจกรรมของอุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ อีกทั้งมีหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจมาเข้าเยี่ยมชมและศึกษาการดำเนินงานของอุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ และในอนาคตเราจะสามารถส่งต่อแนวคิดเรื่องแหล่งเรียนรู้ไปต่อยอดสร้างเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ของ อบจ.ต่อไป โดยจะเน้นเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนหรือปราชญ์ท้องถิ่น เพื่อรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นและองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายในชุมชนให้มาร่วมในที่เดียวกัน เพื่อใช้พัฒนาคนในท้องถิ่นให้พร้อมก้าวสู่สังคมแห่งยุคข่าวสารไร้พรมแดน"

...

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน TK park มีเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ระดับจังหวัด เปิดบริการแล้วจำนวน 26 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินงานความร่วมมือและพัฒนาพื้นที่อีก 6 แห่ง มีห้องสมุดชุมชนในรูปแบบ Mini TK อีกจำนวน 19 แห่ง โดยอุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ ดำเนินงานโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งอยู่ที่ ถนนวันลูกเสือ ตรงข้าม ร.ร.ศรีสะเกษวิทยาลัย เป็นอาคาร 4 ชั้น เปิดบริการตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. และหยุดทุกวันจันทร์ หากใครต้องการไปใช้พื้นที่อื่นๆ เขาก็มีบริการนะคะ สักวันหนึ่งที่นี่จะกลายเป็น...สถานที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษอย่างแน่นอน