สถาบันวิทยาการเพื่อการแข่งขัน มหาวิทยาลัยสยาม โดยหลักสูตรวิทยาการผู้นำนวัตกรรม เพื่อการแข่งขันในระดับโลก (Innovation Leadership for Clobal Compettitiveness) หรือ ILG ร่วมมือกับสถาบันกลยุทธ์และศักยภาพเชิงการแข่งขัน มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงรวมพลังมุ่งมั่นพัฒนา ผู้นำนวัตกรรมฯ ให้เกิดมุมมอง ใน 4 มิติ ได้แก่ Change – ผู้นำที่พร้อมปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในการเปลี่ยนแปลงของโลก Vision – ผู้นำทางความคิดที่มีวิสัยทัศน์ มีมุมมองใหม่ มุ่งมั่นสร้างสรรค์องค์กรสู่ความสำเร็จ Freedom – ผู้นำที่เปิดโอกาสในการให้อิสระกับตัวเองและความคิด ร่วมสร้างศักยภาพเชิงการแข่งขันให้องค์กร Idealism – ผู้นำนวัตกรรมที่สร้างสรรค์และร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดสิ่งใหม่ นำนวัตกรรมสู่การสร้างความเข้มแข็งขับเคลื่อนองค์กร และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทย ก้าวไปอย่างมั่นคง สู่ศักยภาพในการแข่งขันระดับสากล

รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช รองอธิการบดี และผู้อำนวยการ หลักสูตร ILG สถาบันวิทยาการเพื่อการแข่งขัน มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า นับเป็นความท้าทายศักยภาพผู้นำวันนี้ ที่จะต้องตื่นรู้และเท่าทันสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา บริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกาล้มละลายมากกว่า 3,000 บริษัท ด้วยผู้นำไม่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น และไม่สามารถใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีไปขับเคลื่อนองค์กรสู่จุดหมายได้ ทั้งไม่สามารถพัฒนาทีมรุ่นใหม่ขึ้นมาได้

“ดังนั้นผู้นำยุคใหม่จะต้องเป็นโค้ชให้กับผู้ตามหรือทีมทุกคน ทั้งเป็นกำลังใจ และเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงกับกระแสโลกที่ปั่นป่วน มุมมอง 4 มิติดังกล่าว และด้วยกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ILG รุ่น 3 จึงเน้นการทำเวิร์กช็อป โดยบริหารจัดการ ปรับรูปแบบการทำงาน ใช้แพลตฟอร์มใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามา ให้จบอย่างรวดเร็ว ทำงานระยะสั้นแต่ให้ผลเลิศ

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำยุคใหม่ผู้มากความสามารถ กล่าวว่า บริบทโลกเปลี่ยนไป บริบทผู้นำในปีนี้หรือปีหน้าจะเป็นความท้าทาย อย่างจีนกับอเมริการุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในเวทีโลก สำหรับเศรษฐกิจไทยกำลังเปลี่ยนแปลง และในปีนี้ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน ซึ่งมีความสำคัญมาก ดังนั้นในกลุ่มประเทศอาเซียนต้องมีความเหนียวแน่นและมีความสามัคคีกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อไปต่อรองการค้าโลก จะได้มีแต้มต่อรองที่ดีขึ้น

...

“ผู้นำจะต้องขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันทุกหน่วยงาน คิดแล้วเข้าใจแล้วทำเลย แล้วโลกวันนี้เทคโนโลยีมีความสำคัญเข้ามามีบทบาท ดังนั้น กระทรวง ICT จะรองรับกระทรวงเดียวจะเอาไม่อยู่แล้ว ต้องมีทุกกระทรวง ร่วมกันบูรณาการในหลายๆ กระทรวง เพื่อให้เกิดมิติต่างๆ เกิดการแก้ปัญหา วิธีคิด ต้องพูดคุยกัน

ส่วน นางสาวปวีณา บำรุงรส ประธานบริหาร ERM Thailand กล่าวด้วยความภูมิใจในฐานะความท้าทายเป็นผู้นำชาวไทยที่ได้ถือลิขสิทธิ์เวทีประกวดนางงามกว่า 18 เวทีระดับโลก เพราะมีความปรารถนาที่จะนำพาตัวเองไปสู่จุดสูงสุดของชีวิต จากผู้เข้าประกวดในตำแหน่ง มิสออร่า ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ นำองค์ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ในการประกวดธุรกิจนางงาม เป็นเจ้าของธุรกิจรายแรกของไทยที่ถือครองสิทธิ์การจัดประกวดทั้งในไทยและระดับนานาชาติ

สำหรับ “เมลนีย์ อยู่วิทยา” บอกเล่าถึงธุรกิจอุตสาหกรรมการประมงรายใหญ่แห่งภาคตะวันออกของไทย “หลังจากที่รัฐบาลออกกฎหมายให้หยุดจับปลา แต่ให้จับเป็นฤดูกาล เห็นด้วยเลยค่ะ เพราะสมัยก่อนการจับปลาจะจับให้มากที่สุดเกือบตลอดปี แต่เมื่อออกกฎใหม่ที่เข้มงวด จะเป็นเรื่องเชิงอนุรักษ์ ทั้งพันธุ์สัตว์น้ำและความอุดมสมบูรณ์แหล่งน้ำและธรรมชาติแวดล้อม หากมองไปแล้วจะเกิดผลดีในระยะยาว เพราะเมื่อถึงเวลาไปจับปลาจะทำให้ได้ปลามากขึ้น แล้วได้ปลาที่เคยจับเมื่อสิบปีที่แล้ว มันหายไป แต่เมื่อมีกฎใหม่ทำให้ปลาชนิดนั้นได้กลับมาอีกครั้ง ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี.