หนังสือพระเครื่องมาตรฐานวงการวันนี้ มีภาพพระนางพญา วัดนางพญา ทุกพิมพ์ เป็นภาพสี คมชัด ทั้งด้านหน้าด้านหลัง และด้านขอบข้าง เป็นองค์ครู ให้ได้เรียนรู้และจดจำ
สิ่งที่ขาดหายไปจากหนังสือพระรุ่นใหม่ ก็คือ ชุดความรู้ พระถูกค้นพบในสภาพไหน ในกรุ ใต้ดิน บนดิน ฯลฯ
สภาพพระแท้ที่เห็นตรงหน้า สัมพันธ์กับอายุ หรือความเก่า ศิลปะที่มีแบบเฉพาะของยุคสมัย เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมที่พบ
พระนางพญา นอกจากพบที่ลานวัดนางพญา ที่มีหลักฐานชัดเจน ก่อนปี พ.ศ.2444 ปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลองแล้ว
ยังมีพระนางพญา ที่พบจากกรุตาปาน ฝั่งตรงข้าม วัดนางพญา ราวๆ พ.ศ.2487-2488 หลายองค์ที่พบ ผิวหน้าพระหลุดร่อย เห็นก้อนกรวดลอย เรียกแร่ลอย พระนางพญาชุดนี้ สมัยแรกๆ เรียกกันว่า กรุน้ำท่วม
พลตรีประจญ กิติประวัติ หรือ “ตรียัมปวาย” ขณะนั้นเป็นนายทหารยศร้อยเอก รับราชการอยู่พิษณุโลก เขียนไว้ในปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่ม 2 เรื่องพระนางพญาว่า
พอได้ข่าวพระนางพญากรุตาปาน ก็ไปถึงบ้าน พบพระนางพญา ที่ขุดจากโคนต้นไม้ใกล้บ้าน วางผึ่งแดดอยู่บนเสื่อลำแพนนับร้อยองค์ ส่วนใหญ่เป็นพระนางพญาพิมพ์เล็ก เช่น พิมพ์ฆาฏิ พิมพ์ เทวดา พิมพ์อกนูนเล็ก
ส่วนพิมพ์ใหญ่ เข่าโค้ง เข่าตรง มีจำนวนน้อยมาก ตาปานเลือกเก็บไว้ในบ้าน
พระนางพญาเมื่ออยู่ใต้ดินเปียกชื้น สภาพเนื้อพระอ่อนนิ่ม เมื่อได้ขึ้นมาตอนแรก ก็ใช้กาบมะพร้าวตัด ขัดถู ผิวพระที่ยังอ่อนก็หลุดลุ่ย เห็นแร่ลอย เป็นที่มาของคำเรียก กรุน้ำท่วม
มีประสบการณ์แล้ว ตาปานผึ่งแดดให้พระแห้งสนิท จึงได้พระสภาพผิวสมบูรณ์
พระนางพญาช่วงปี พ.ศ.นั้น ไม่มีราคา ตาปานให้ครูตรียัมปวาย เลือกไว้ รวมกับที่ได้จากที่อื่น มากกว่า 50-60 องค์ ได้มาก็แจกจ่ายให้ญาติสนิทมิตรรักไป
...
ตอนที่เขียนตำราพระนางพญา เหลืออยู่ไม่กี่องค์ “ที่ซื้อมาในราคาแพง”
พระนางพญาที่ได้จากสองฝั่งแม่น้ำน่าน... ยาวนานมาถึงวันนี้ คงแยกความแตกต่างได้ยาก
พระนางพญา ที่ราษฎรทูลเกล้าฯถวายรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2444 จำนวนมากเหลือจากแจกจ่ายข้าราชบริพาร มีผู้นำใส่บาตรไปบรรจุไว้ในเจดีย์วัดอินทรวิหาร ปี พ.ศ.2479 ก็ถูกมือดีเจาะเจดีย์ เอาออกมา
พระชุดนี้มีสนิมเหล็กจากบาตรติดผิวพระ ประกอบกับความร้อนจากในเจดีย์ สภาพผิวพระจึงเกรียม
นางพญาผิวเกรียมตอนนี้ไม่มีให้เห็นในวงการ พอเข้าใจได้ เจ้าของพระคงใช้น้ำยาล้างจนไม่เหลือร่องรอย
ยังไม่รวม พระนางพญา ที่พบที่วังหน้า วัดราษฎร์บูรณะ วัดสังข์กระจายฯ บางองค์ลงรักปิดทอง
รู้ที่มาและพระนางพญาแต่ละกรุแล้ว ลองฝึกสายตา ดูพระนางพญา พิมพ์ใหญ่ เข่าตรง องค์ในคอลัมน์
องค์เนื้อแดง ถ้าดูภาพสีทางไทยรัฐออนไลน์ ก็จะเห็นโทนสีแดง สลับเหลือง แซมขาว มุมซ้ายหลังมีสีดำ สภาพสีเนื้อหลายสีอย่างนี้เข้าหลัก คุณเชียร ธีรศานต์ ตัดสินใจว่าเป็นพระนางพญาแท้ได้ง่ายขึ้น
หลุมแร่หลุด แร่ที่เหลืออยู่ ส่องแว่นดู พระนางพญาแท้ มีแร่อย่างน้อยสามสี แร่ดอกมะขาม สีน้ำตาล แร่กรวดขาวใส และแร่สีดำ นักเลงพระรุ่นเก่า เรียกแร่ก้อนเส้า
สภาพแร่ในนางพญาองค์นี้ เป็นแร่จม รวมอยู่ เม็ดเล็กใหญ่คละกันไปเป็นกลุ่ม ถ้าเจอแร่กระจายไปทั้งองค์ ครูท่านสอนว่า ให้ระวัง เป็นพระปลอม
ดูสภาพทั้งพิมพ์ เนื้อ ผิว และก้อนแร่ ให้คุ้นตา พระนางพญาพิมพ์ใหญ่แต่ละองค์แพงมาก ของปลอมหลายฝีมือออกมานาน...
มีเงินซื้อผ่านวงการปลอดภัยกว่า...ขอเตือนว่า ซื้อตาเดียว พลาดกันมาแล้วนักต่อนัก.
พลายชุมพล