ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” เนื่องจากมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติกล่าวว่าในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 20 ของประเทศ การเตรียมพร้อมเพื่อจะเข้าสู่การเป็น “ผู้สูงอายุ” จึงเป็นเรื่องที่ตัวผู้สูงอายุและคนรอบข้างจะต้องเตรียมพร้อม เพื่อให้คุณเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขและมีคุณภาพของสังคม

เมื่ออายุมากขึ้น แน่นอนว่าปัญหาสุขภาพต่างๆ ก็ย่อมตามมามากมาย ซึ่งปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่พบบ่อย ได้แก่ ความจำถดถอยหรือสมองเสื่อม กระดูกเสื่อม กระดูกบาง การมองเห็น การได้ยิน การหกล้ม ภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ ขับถ่ายไม่คล่อง เป็นต้น

ปัญหาเรื่องความจำถดถอยหรือสมองเสื่อม

คุณเป็นผู้สูงอายุที่มีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่

• นึกชื่อสิ่งของไม่ได้ เช่น เห็นกระเป๋า แต่นึกชื่อเรียกไม่ได้ว่า “กระเป๋า” หากคนใกล้ตัวของคุณเรียกชื่อสิ่งของไม่ได้ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุทันที

• เดินทางแล้วหลงง่าย จากที่เคยเดินทางไปไหนมาไหนในทางปกติที่ไปเป็นประจำ ก็หาทางกลับไม่ถูก

• มีข้อผิดพลาดทางการเงินบ่อยๆ เช่น เบิกเงินแล้วเอาไปให้คนอื่น หรือโอนเงินบ่อยๆ โดยที่ไม่รู้ตัวว่าเพิ่งโอนเงินไป 

• พูดซ้ำๆ หรือถามอะไรซ้ำๆ 

• ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน เช่น เพิ่งไปพบแพทย์มาแล้วแพทย์ให้คุมน้ำตาล แต่เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ซ้ำอีกก็ลืม หรือเรื่องที่เพิ่งผ่านมาเมื่อวานนี้ พอถามถึงก็จำไม่ได้ เป็นต้น 

• มีอารมณ์ซึมเศร้า แยกตัว ชอบอยู่คนเดียว อาจจะตั้งข้อสังเกตว่ามีภาวะซึมเศร้าร่วมกับสมองเสื่อม

...

• มีพฤติกรรมที่ผิดไปจากเดิม เช่น ชอบทำอะไรซ้ำๆ ย้ำคิดย้ำทำ


อาการสมองเสื่อม คือ ภาวะที่เซลล์สมองเสื่อมหรือลดจำนวนลงด้วยอัตราเร็วกว่าปกติ ยังไม่มียาที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมรรถภาพของสมองได้ ซึ่งคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมก็ได้แก่ ผู้สูงอายุ มีโรคหลอดเลือดสมอง มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อม เคยมีอุบัติเหตุทางสมองที่ทำให้มีอาการหมดสติ และการมีระดับการศึกษาน้อย สมองขาดการคิด วิเคราะห์ ขาดการคิดหลายๆ ขั้นตอน

การชะลอไม่ให้สมองเสื่อม

แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มียาตัวไหนที่จะรักษาอาการสมองเสื่อมได้ แต่เราสามารถชะลอไม่ให้สมองของเราเสื่อมได้ ดังนี้

@ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 120-150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งผู้สูงอายุสามารถเลือกออกกำลังกายแบบยืดเหยียดร่างกาย หรือฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อให้ร่างกายได้มีการเคลื่อนไหวบ้างไม่มากก็น้อย เพราะการยกแขน ยกขา ก็เป็นการกระตุ้นสมอง เพราะสมองต้องสั่งการให้ยกแขน ยกขา ถ้าทำอย่างต่อเนื่องและถูกวิธี ก็จะช่วยชะลอสมองเสื่อม และหากต้องการออกกำลังกายที่ช่วยให้การทำงานของหัวใจดีขึ้น ก็ต้องเลือกออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูความแข็งแรงของร่างกายของแต่ละคนด้วยว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเลือกออกกำลังกายแบบไหนก็ดีต่อสมอง เพราะจากงานวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มเซลล์ประสาทในสมองให้เพิ่มขึ้น จึงอยากให้คนที่ไม่เคยออกกำลังกาย จึงควรมาเริ่มออกกำลังกายตั้งแต่วันนี้


@ รับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวให้น้อยลง ได้แก่ น้ำมันปาล์ม ไขมันจากสัตว์ เบเกอรี่ทุกชนิด เนื่องจากไขมันอิ่มตัวเหล่านี้จะไปเกาะเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดตีบง่าย ส่งผลให้คนไข้เป็นโรคสมองเสื่อมอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่โรคอัลไซเมอร์

@ รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 และวิตามินบี 12 อย่างเพียงพอ ได้แก่ ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ วอลนัท ถั่วแดง ข้าวกล้องงอก น้ำมันมะกอก ฟักทอง แครอต ผักใบเขียว บล็อกโคลี่ กะหล่ำปลี แซลมอน ทูน่า ปลาทู ปลาจะละเม็ดขาว ปลากะพงขาว ปลาสวาย ส่วนอาหารที่มีวิตามินบี 12 ก็ได้แก่ ไข่ นม และผักใบเขียว

@ เป็นคนมีทัศนคติที่ดี มองโลกในแง่บวก หาอะไรทำที่ทำให้ชีวิตมีพลังงานและมีความสุข

@ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนก่อนเวลา 22.00 น. และหาวิธีที่ทำให้ไม่ต้องตื่นมากลางดึก เช่น ดื่มน้ำก่อนนอนให้น้อยลง

@ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี เนื่องจากเซลล์ประสาทของคนเรามีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ จึงต้องดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน

...

ปัญหากระดูกเสื่อม กระดูกบาง

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องกระดูกเสื่อม กระดูกพรุน และมีอาการข้อเสื่อมตามมาด้วย หรือบางคนก็มีผลึกแคลเซียมไปเกาะตามข้อที่เรียกว่า “เกาต์เทียม” หากใครที่มีอาการข้ออักเสบบ่อยๆ ก็ควรไปพบแพทย์ และคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรกินแคลเซียมและวิตามินดีเสริม เพราะคนไทยมักขาดวิตามินดี นอกจากนี้การออกกำลังกายด้วยการยืดเหยียดร่างกาย ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกได้อีกด้วย

ปัญหาการมองเห็น

ความผิดปกติด้านการมองเห็นในผู้สูงอายุที่พบบ่อยได้แก่

• โรคต้อกระจก แต่เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายอะไร หลังจากการผ่าตัดแล้ว คนไข้ก็สามารถกลับมามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน

• โรคต้อหิน ซึ่งเกิดจากการที่ความดันในลูกตาสูง จนไปกดเส้นประสาทตา ผู้สูงอายุจึงควรตรวจสุขภาพตาทุกปี เพื่อตรวจหาโรคต้อหินตั้งแต่เนิ่นๆ หากตรวจพบเร็ว แพทย์จะช่วยชะลอไม่ให้เกิดโรคต้อหินได้

• จอประสาทตาเสื่อม เนื่องจากการเป็นโรคเบาหวาน ทั้งนี้เพราะคนไทยเป็นโรคเบาหวานค่อนข้างเยอะ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง


คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะหากพบความผิดปกติใดๆ จะได้เตรียมวางแผนการรักษาแต่เนิ่นๆ และทำให้เรามีดวงตาอยู่กับเราไปอีกนานๆ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ของผู้สูงอายุที่ต้องคอยระวังอีกหลายประเด็น รอติดตามต่อสัปดาห์หน้ากันนะคะ


-----------------------------------------------------------------

แหล่งข้อมูล

ผศ.พญ.จิตติมา บุญเกิด ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล