ด้วยภารกิจหลักของสภากาชาดไทย คือการบริการทางการแพทย์ และการดูแลสุขอนามัย รวมไปถึงการบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ ลัทธิ ศาสนา สภากาชาดไทย จึงมีภารกิจออกหน่วยแพทย์ให้การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ไม่เพียงเฉพาะชาวไทยในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเมื่อเกิดอุบัติภัยต่างๆ และเมื่อเร็วๆนี้เป็นครั้งแรกที่ สภากาชาดไทย ได้ออกหน่วยแพทย์และจัดตั้งสถานีตรวจรักษาผู้ป่วยชาวบังกลาเทศ และผู้พลัดถิ่นชาวโรฮีนจา ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ซึ่งมาพักพิงที่เมืองค็อกซ์บาซาร์ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เป็นเวลา 7 วัน

ศ.ดร.นพ.สมบัติ ตรีประเสริฐสุข (ยืนกลาง) และทีมแพทย์ พยาบาลที่ร่วมกันทำงาน.
ศ.ดร.นพ.สมบัติ ตรีประเสริฐสุข (ยืนกลาง) และทีมแพทย์ พยาบาลที่ร่วมกันทำงาน.

...

โอกาสนี้ ศ.ดร.นพ.สมบัติ ตรีประเสริฐสุข จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมแพทย์ที่ร่วมออกหน่วยของสภากาชาดไทย ณ ประเทศบังกลาเทศ ครั้งนี้ได้เล่าถึงภารกิจว่า ทางท่านเอกอัครราชทูต สถานทูตไทย ณ กรุงธากา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ได้ขอความอนุเคราะห์สภากาชาดไทยให้ไปช่วยออกหน่วยแพทย์พยาบาล เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยในแคมป์ผู้พลัดถิ่นชาวโรฮีนจาที่อพยพมาอยู่บริเวณเมืองค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งมีจำนวนผู้อพยพอยู่ราว 500,000-600,000 คน รวมทั้งชาวเมืองค็อกซ์บาซาร์ ทางสภากาชาดไทย นำโดยนายสวนิต คงสิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ จึงได้นำคณะรวม 15 คน ซึ่งมาจากสำนักบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ และโรงพยาบาลจุฬาฯ ประกอบไปด้วย อายุรแพทย์, สูติแพทย์และกุมารแพทย์ รวม 5 คน (มี อ.โอภาส, อ.ธาริณี, อ.ศิรวุฒิ, อ.ประกาศิต และ อ.สมบัติ), ทีมพยาบาล และเจ้าหน้าที่ธุรการ โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ทางสถานทูตไทย ณ กรุงธากา ไปช่วยประสานงานในพื้นที่ทั้งหมด เมื่อไปถึงจึงได้มีการแบ่งการทำงานออกเป็น 2 หน่วย โดยหน่วยแรกได้จัดตั้งหน่วยแพทย์ชั่วคราวที่โรงเรียนในเมือง เพื่อตรวจรักษาชาวบังกลาเทศ อีกหน่วยเดินทางไปช่วยชาวโรฮีนจาที่แคมป์ผู้อพยพ ซึ่งห่างจากตัวเมืองออกไปอีกประมาณครึ่งชั่วโมง

นายสวนิต คงสิริ (ยืนกลาง) ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย นำทีมคณะแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ออกหน่วยช่วยชาวบังกลาเทศ และผู้อพยพชาวโรฮีนจา.
นายสวนิต คงสิริ (ยืนกลาง) ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย นำทีมคณะแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ออกหน่วยช่วยชาวบังกลาเทศ และผู้อพยพชาวโรฮีนจา.

อาจารย์หมอสมบัติ กล่าวถึงการทำงานต่อว่า ในการทำงานจะออกเดินทางตั้งแต่ 8 โมงเช้าและกลับถึงที่พักประมาณ 1 ทุ่ม โดยหน่วยแพทย์ที่ตั้งในโรงเรียนมีอายุรแพทย์ 2-3 คน รวมทั้งตนเองเป็นผู้ดูแลคนไข้ชาวบังกลาเทศ วันแรกมีคนไข้ 400- 500 คน วันสุดท้ายพุ่งไปถึง 700 คน รวม 5 วัน ได้ตรวจคนไข้ประมาณ 2,300 ราย ซึ่งทีมพยาบาลของเรามีความเข้มแข็งมากทำทุกอย่าง ส่วนทีมที่ 2 ที่ไปช่วยดูแลชาวโรฮีนจา จะเป็นอาจารย์หมอสูตินรีเวช และอาจารย์หมอเด็ก เพราะที่นั่นมีผู้หญิงตั้งครรภ์และคนไข้เด็กเยอะมาก ทีมของเราได้พูดคุยกับทีมแพทย์นานาชาติของ UNHCR ที่อยู่ประจำแคมป์วางแผนให้ทีมเราเข้าไปช่วยเสริม ซึ่งนอกจากไปช่วยตรวจคนไข้แล้ว ก็ยังไปสอนความรู้พื้นฐานในการดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ หรือสุขภาพของสตรีให้กับอาสาสมัครหรือเจ้า-หน้าที่สาธารณสุขอีกด้วย เนื่องจากที่นั่นมีหมอไม่มากนัก เขาจะคลอดกัน เอง โดยใช้หมอพื้นบ้าน จึงต้องไปอบรมกลุ่มอาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่เหล่านั้นให้มีความรู้ เช่นเดียวกับหมอเด็กที่ไปช่วยสอนสุขอนามัยให้กับเด็กและพ่อแม่ด้วย

สำหรับผลการทำงานครั้งนี้ อาจารย์หมอสมบัติ กล่าวว่า ภารกิจในครั้งนี้สำเร็จตามที่ได้รับมอบหมาย และเป็นการตอกย้ำภารกิจของ “สภากาชาดไทย” ที่ต้องดูแลเรื่องสุขอนามัยแบบไร้พรมแดน ไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ ลัทธิ ศาสนา สภากาชาดไทยเคยออกหน่วยไปช่วยผู้ประสบภัยในต่างประเทศหลายครั้ง ส่วนมากเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ออกมาไกลในประเทศที่ต่างศาสนาด้วย ซึ่งการทำงานแม้จะมีอุปสรรคหลายอย่าง แต่ก็ประสบผลสำเร็จเพราะได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะทีมแพทย์พยาบาลที่เข้มแข็งทุกคน รวมถึงการสนับสนุนจากท่านเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่ทีมงานทุกคนที่ช่วยกันทำงานเพื่อดูแลคนไข้ตามหลักมนุษยธรรม นับเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์การทำงานที่ดีมากๆ.

...