มีน้องมัธยมต้นคนหนึ่งคุณพ่อคุณแม่พามารับคำปรึกษากับครูเคท เพราะว่าน้องมีความเครียดจัด จนเกิดอาการเบื่ออาหาร และเริ่มหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่อยากทำอะไร กลัวว่าน้องจะเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อได้พูดคุยกัน น้องบอกว่าน้องเป็นคนที่ขี้กังวลมากในทุกๆเรื่อง อย่างเช่น เวลาจะสอบ น้องจะต้องอ่านหนังสืออย่างน้อย 2 รอบก่อนสอบ บางครั้งอ่านไม่ทัน น้องจะพยายามอ่านติดต่อกันให้ได้มากที่สุดเป็นสิบๆ ชั่วโมง เพื่อให้ได้คะแนนดีๆ
ปัญหานี้ดูจะกลายเป็นปัญหาที่พบเจอกันแทบทุกบ้านในยุคนี้นะคะ ทั้งนี้เป็นเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองมองการศึกษาของลูกเพียงแค่เปลือก คือวัดผลจากเกรดและคะแนนสอบ เหมือนองค์กรต่างๆ ที่วัดผลการทำงานของพนักงานด้วย KPI แต่ไม่ได้วัดลงลึกเลยว่าพนักงานมีพัฒนาการทั้งทักษะและความรู้อะไรบ้าง ส่วนใหญ่พนักงานก็ทำงานเพื่อให้ผ่าน KPI เท่านั้น การทำงานด้วยใจรักหรือ passion แทบจะไม่เห็น และนี่ก็เป็นผลพวงจากการศึกษาของเราที่เน้นวัดผลด้วยเกรดและคะแนน ซึ่งเป็นการวัดผลที่จับต้องได้ และที่สำคัญคือ สามารถนำมาเปรียบเทียบได้
นิสัยเปรียบเทียบนี้ดูจะเหมือนมีมากขึ้นๆ ในยุคนี้ ยิ่งเปรียบเทียบกันเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้คนเราไม่เป็นตัวของตัวเองเท่านั้น เพราะเราจะมัวแต่ประเมินตัวเองว่าดีพอแล้วหรือยัง ดีกว่าหรือด้อยกว่าคนอื่นหรือไม่ คนอื่นจะมองเราอย่างไร วันๆ เราจึงไม่ค่อยมีเวลามองตัวเองอย่างที่ตัวเองเป็นจริงๆ สักเท่าไหร่ เราจึงเผลอดำเนินชีวิตเพื่อให้ดูดีในสายตาคนอื่น ไม่ใช่ดำเนินชีวิตเพื่อให้มองเห็นพัฒนาการของตนเองและภาคภูมิใจในพัฒนาการของตนเองนั้น
กรณีของน้องมัธยมที่เครียดจัดจากการเรียนและการสอบเป็นตัวอย่างที่ดีของคนยุคใหม่ ที่ดำเนินชีวิตด้วยการเปรียบเทียบ อันมีรากฐานมาจากการปลูกฝังของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่ได้ผิดอะไรแต่เป็นการปลูกฝังแต่เปลือก เด็กจึงเติบโตมาด้วยเป้าหมายว่าต้องเรียนให้ดี ต้องทำเกรดให้ได้ ต้องเก่งกว่าคนอื่น มีความสามารถพิเศษทำอะไรได้เหนือกว่าคนอื่น เมื่อไม่ได้ทำอะไรเพื่อตนเองแต่ทำเพื่อเป้าหมายหรือความคาดหวังของคนอื่น เราจึงเกิดความเครียด กลัวว่าจะทำไม่ได้ดี กลัวว่าจะถูกตำหนิหรือถูกดูถูก แถมหลายคนมีประสบการณ์เชิงลบเพราะเคยโดนตำหนิหรือดูถูกมาแล้วจริงๆ ก็ยิ่งกังวลอีกสองเท่า ความกังวลเหล่านี้ก็จะเริ่มวกวนไปมากลายเป็นความเคยชินของสมองที่จะคิดเรื่องเดิมๆ ทำร้ายตัวเองแบบเดิมๆ จนกลายเป็นความเครียดอัตโนมัติ คือไม่ต้องคิดมันก็เครียด หรือเครียดไม่รู้ตัวนั่นเอง
...

วิธีเปลี่ยนความคิด เราควรจะมองว่าทุกอย่างในชีวิต เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้นหาศักยภาพของตัวเอง มองเห็นการเติบโตของตัวเองผ่านการลองผิดลองถูก ถ้าเราไม่ล้มเสียก่อนเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีความสามารถในการลุกขึ้นและเดินต่อ พอคล่องแล้วก็วิ่งได้อีกด้วย และที่สำคัญ ทุกคนต้องเคยล้มเคยลุก และไม่มีใครจำตอนที่เราล้มได้นานหรอกค่ะ ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนความคิดที่มีต่อตัวเองและมุมมองต่อความล้มเหลวเสียใหม่ มองให้เห็นถึงความสามารถที่แท้จริงของตัวเอง และมองว่าความล้มเหลวไม่ใช่สิ่งที่น่าอับอาย แต่เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เรียนรู้จากการลงมือทำแบบฝึกหัดเพิ่ม แต่นั่นคือ ไม่ใช่การนั่งบอกตนเองให้เชื่อตามนั้น เช่น บอกตัวเองว่าเราทำได้ แต่เป็นการลงมือทำบ่อยๆ ล้มบ่อยๆ จนในที่สุดเราจะเริ่มเห็นความสามารถที่แท้จริงในการทำสิ่งต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ค่ะ กลัวอะไร ไม่ชอบอะไร ล้มเหลวเรื่องอะไรบ่อยๆ ให้หาโอกาสทำสิ่งนั้นให้บ่อย ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ แต่ก็ไม่มีอะไรที่เราจะทำไม่ได้นะคะ ขอแค่ให้เวลาและให้โอกาสตัวเองในการก้าวออกไป หกล้ม ลุกขึ้น แล้วก้าวต่อค่ะ
ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ