“โรคไต” เป็นโรคหนึ่งที่คนไทยเป็นกันมาก ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่ามีจำนวนคนไข้โรคไตมากถึง 8 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณปีละ 10,000 คน และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไตประมาณ 13,000 รายต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก ซึ่งสาเหตุหลักของการเป็นโรคไตนั้นมาจากการเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 49 และโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 81 ซึ่งปัญหาของทั้งสองโรคนี้ล้วนมาจากการกินอาหารรสหวาน รสเค็ม และอาหารมัน หากเราสามารถหลีกเลี่ยงหรือลดอาหารเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้ช่วยลดโอกาสที่จะเป็นโรคดังกล่าว รวมถึงโรคไตได้ด้วย
อาหารรสหวาน
การกินอาหารที่มีรสหวานสะสมในปริมาณมากๆ จะส่งผลให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคไตในที่สุด
อาหารหวานได้แก่ กลุ่มของขนม โดนัท เบเกอรี่ น้ำอัดลม เครื่องดื่มทุกชนิดที่มีรสหวาน ไอศกรีมต่างๆ เพราะเป็นกลุ่มอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น น้ำอัดลม 1 ขวด มีปริมาณน้ำตาลมากถึง 8 ช้อนชา ชาเขียว 1 ขวด มีน้ำตาลประมาณ 13 ช้อนชา เป็นต้น ซึ่งใน 1 วัน เราควรกินน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา
...
คำแนะนำ
- ไม่กินเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว น้ำหวานต่างๆ
- งดปรุงอาหารด้วยน้ำตาล
- ลดการกินน้ำซุปต่างๆ เพราะมีส่วนผสมของน้ำตาลอยู่
- งดกินขนมหวาน อาหารหวานต่างๆ
อาหารมันและทอด
อาหารมันๆ อาหารทอด รวมถึงเบเกอรี่ต่างๆ เป็นอาหารที่มีไขมันและให้พลังงานสูง หากได้รับในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกาย จะทำให้เกิดการสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด โรคไต เป็นต้น
คำแนะนำ
- ร่างกายควรได้รับปริมาณไขมันร้อยละ 25-30 ต่อวัน
- หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ต่างๆ ที่ติดหนัง ติดมันทุกชนิด
- งดกินเนื้อสัตว์แปรรูป เพราะโดยส่วนใหญ่จะมีปริมาณของไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยการทอด แล้วเปลี่ยนมาเป็นการต้ม นึ่ง และย่างแทน
อาหารรสเค็ม
การกินอาหารที่มีรสเค็มมากๆ ส่งผลให้ปริมาณโซเดียมในร่างกายสูงเกินไป จะทำให้ความดันโลหิตสูง ไตทำงานหนักและนำไปสู่การเป็นโรคไต ซึ่งคนเราควรบริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเป็นปริมาณเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 4-5 ช้อนชา แต่ในความเป็นจริง คนไทยบริโภคโซเดียมมากถึง 2 เท่าของปริมาณที่แนะนำ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ในอนาคตได้ รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของผงฟู เช่น เบเกอรี่ ซาลาเปา จะมีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูงด้วย
คำแนะนำ
- หลีกเลี่ยงการปรุงอาหารด้วยเกลือ ควรเลือกใช้น้ำปลา ซีอิ๊วแทน เพราะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าในปริมาณที่เท่ากัน
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูปทุกชนิด อาทิ ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว เนื้อแดดเดียว อาหารหมักดอง เพราะเป็นกลุ่มอาหารที่มีโซเดียมสูง
- เวลาไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการกินน้ำซุปต่างๆ เพราะเป็นแหล่งโซเดียม
- งดการปรุงรสด้วยน้ำปลาหรือซีอิ๊วขาวเพิ่ม เพราะจะเป็นการเพิ่มปริมาณโซเดียมมากขึ้นไปอีก
...
กินอย่างไรให้เพียงพอกับชีวิตประจำวัน
อาหาร 1 จาน จะต้องประกอบไปด้วยผักต่างๆ ครึ่งหนึ่งของจาน จะเป็นผักอะไรก็ได้ การกินผัก ร่างกายจะได้รับวิตามิน เกลือแร่ต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังช่วยชะลอการดูดซึมของน้ำตาล และชะลอการดูดซึมไขมัน
ส่วนต่อมา 1 ใน 4 ของจาน จะเป็นส่วนของคาร์โบไฮเดรต เลือกกินเป็นข้าวที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังโฮลวีท ธัญพืชต่างๆ เนื่องจากมีกากใยอาหารสูง
1 ใน 4 ส่วนสุดท้าย เป็นส่วนของโปรตีน เลือกกินโปรตีนไขมันต่ำ นั่นคือเนื้อสัตว์ไม่ติดหนังติดมัน เช่น ปลา ไก่ เนื้อหมูส่วนของสันใน และหลีกเลี่ยงการปรุงด้วยการทอด หากใครที่กินมังสวิรัติ สามารถเลือกกินถั่วเหลือง เต้าหู้แทนเนื้อสัตว์
เมื่ออิ่มจากอาหารคาว สามารถกินผลไม้ประมาณ 6-8 ชิ้นพอดีคำ หรือส้ม 1 ลูก แอปเปิ้ล 1 ลูก และไม่ควรจิ้มพริกเกลือ บ๊วย กะปิหวาน น้ำปลาหวาน เพื่อลดปริมาณน้ำตาลและโซเดียม
ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าอาหารรสหวาน อาหารมัน และอาหารรสเค็ม หากได้รับในปริมาณมากเกินที่ร่างกายต้องการ ก็จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น “โรคไต” ได้ แต่หากคุณสามารถคุมอาหารทั้งหวาน มัน เค็มได้ ก็จะทำให้มีสุขภาพที่ดีและห่างไกลจากโรคไต
------------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
...
มุจลินทร์ พงษ์ประวัติ นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล