ออเจ้าทั้งหลายที่ดูละครบุพเพสันนิวาส ต่างติดกันงอมแงม และมีคำฮิตติดตลาด เช่นคำว่า ออเจ้า เว็จอึดตะปือนัง หรือ ชม้อย ชะม้าย ชายตา ตามที่แม่นางการะเกด (เกศสุรางค์) ชอบพูด

แต่จะมีท่านใดรู้บ้างไหมว่า ตัวละครที่แสดงในบุพเพสันนิวาสนั้น มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ และเป็นใครกันบ้าง วันน้ี ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ นักคิด นักเขียน บอกผ่านไทยรัฐออนไลน์พร้อมย้อนดูประวัติศาสตร์ไปด้วยนะออเจ้าทั้งหลาย 9 เรื่องที่คนสงสัย เรื่องที่คนไม่รู้!

ขุนศรีวิสารวาจา
ขุนศรีวิสารวาจา

1.ขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูตที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส (พี่หมื่นของออเจ้าการะเกดนั่นเอง)
หมื่นสุนทรเทวา ภายหลังได้อวยยศเป็น ขุนศรีวิสารวาจา ถือว่าเป็นบุคคลสำคัญทางการทูตและได้ร่วมอยู่ในคณะทูตที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๙ โดยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ณ พระราชวังแวร์ซายส์

...

คอนสแตนติน ฟอลคอน
คอนสแตนติน ฟอลคอน

2.คอนสแตนติน เยรากี ชื่อเก่าก่อนเปลี่ยนเป็น คอนสแตนติน ฟอลคอน
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เดิมชื่อ คอนสแตนติน เยรากี ชาวกรีกทำงานเป็นลูกเรือรับจ้างของอังกฤษที่เดินทางมาค้าขายทางด้านตะวันออก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น คอนสแตนติน ฟอลคอน เขามากับเรือสินค้าอังกฤษถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.๒๒๑๘ และได้ลาออกจากบริษัทค้าขายของอังกฤษ สมัครเข้ารับราชการอยู่กับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) ในกรมพระคลังสินค้า

เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)

3.ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) หัวหน้าคณะทูตที่ทำให้ไทยรอดพ้นจากการคุกคามของฮอลันดา

ออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับการยกย่องสรรเสริญในเรื่องความสามารถ ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ ด้วยบุคลิกที่เฉลียวฉลาด มีมารยาทเรียบร้อย ช่างสังเกต ช่างจดจำ พูดจาหลักแหลมคมคาย ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการประกาศชื่อเสียงและเกียรติคุณของประเทศชาติ จากผลงานการเป็นหัวหน้าคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสจนประสบผลสำเร็จ ซึ่งผลงานของออกญาโกษาธิบดี (ปาน) ทำให้ไทยรอดพ้นจากการคุกคามของฮอลันดา


4.พระนารายณ์ราชนิเวศน์ ได้ต้นแบบมาจากพระราชวังแวร์ซายส์

สมเด็จพระนารายณ์ทรงตัดสินพระทัยสร้างราชธานีแห่งที่สองที่เมืองลพบุรี ใน พ.ศ.๒๒๐๘ โดยมีบาทหลวงโธมัส ผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศส เป็นผู้ออกแบบผังเมืองและพระราชวัง โดยได้ต้นแบบมาจากพระราชวังแวร์ซายส์

อ้ายเตี้ยหรือพระปีย์
อ้ายเตี้ยหรือพระปีย์

...

5.อ้ายเตี้ย เป็นชื่อเรียกของพระปีย์

พระปีย์ถูกถวายตัวแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชตั้งแต่ยังเล็ก แต่ด้วยมีรูปพรรณต่ำเตี้ยพิการค่อมแคระ สูงประมาณไม่เกิน 145 ซม. หลังค่อม เดินเอียงหน่อยๆ สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงพระกรุณาเรียกว่า “อ้ายเตี้ย” และเป็นที่โปรดปรานเพราะกิริยาดี พูดจาไพเราะอ่อนหวาน มีการโจษจันกันว่าพระปีย์อาจเป็นพระโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์

พระเพทราชา
พระเพทราชา

6.นายทองดำ แท้จริงคือ สมเด็จพระเพทราชา

สมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมเป็นสามัญชนมีชื่อว่า “ทองดำ” เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๒๘ ของกรุงศรีอยุธยา และเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิศร บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว”

7.เตี้ย มีปม เดินยกไหล่ ไม่ใช่ใครนอกจาก พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

...

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ผู้มี “ปม” ด้วยรูปร่างเตี้ย ต้องคอยเดินยกไหล่ตลอดเวลา มีความต้องการเป็นประมุขทั้งฝ่ายราชอาณาจักรและศาสนจักรอย่างแรงกล้า จึงยึดกฎเหล็กสามประการในการแผ่แสนยานุภาพทั่วโลกนั่นคือ “Une Fois Une Loi Un Roi!” (อ่านว่า อูนฟัว อูนลัว เอิงรัว) แปลว่า “ศรัทธาหนึ่งเดียว กฎหมายหนึ่งเดียว ภายใต้กษัตริย์องค์เดียว”

8.เดื่อเป็นชื่อของใคร

นายเดื่อ ซึ่งก็คือ หลวงสรศักดิ์ (ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์) สมเด็จลูกยาเธอกรมพระราชวังบวร (ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา) หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) พระองค์ทรงครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระเพทราชา เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๙ แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นอันสิ้นสุดรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชา

9.ทำไม? ต้องชื่อพระนารายณ์

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่า เมื่อแรกประสูตินั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์" ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่า เมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์

สุดท้าย นักคิดนักเขียนผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ละครบุพเพสันนิวาส ปลุกกระแสให้ทุกคนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตกับชาวต่างชาติ ที่นำมาซึ่งความเป็นไทยในปัจจุบัน

สุดท้ายอยากฝากติดตามอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในหนังสือ ๗ ตำนานสมเด็จพระบูรพกษัตริย์แห่งสยาม สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พบกันที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซนแพลนนารี่ฮอลล์ บูธ H14 พิเศษ!! ชวนออเจ้านุ่งโจง ห่มสไบ เยือนอยุธยา กับทริปตามรอยบุพเพสันนิวาสเพลาเช้าจรดค่ำ หนึ่งวันเต็ม สุดเอ็กซ์คลูซีฟห้ามพลาด.

...