นับเป็นปีที่ 26 แล้ว ที่ได้มีพิธีพระราชทานรางวัล “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ซึ่ง มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้คัดเลือกบุคคล หรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทั้งด้านการแพทย์ และด้านการสาธารณสุข โดยตลอดระยะเวลา 26 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น 74 ราย
ในปีนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลฯ ประจำปี พ.ศ.2560 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลฯในปีนี้ สาขาการแพทย์ ได้แก่ โครงการจีโนมมนุษย์ สถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ โครงการจีโนมมนุษย์เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ มีส่วนสำคัญในความก้าวหน้าทางความรู้ ที่เกี่ยวกับพันธุศาสตร์และรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ช่วยให้เข้าใจกลไกการทำงานของเซลล์และอวัยวะต่างๆ ส่วนสาขาการสาธารณสุข ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ ศ.พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู. แอนเดอร์สัน จูเนียร์, นพ.จอห์น บี.รอบบินส์ และ พญ.ราเชล ชเนียสัน ทั้ง 3 ท่านเป็นนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับกลไกโรคและการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือเรียกสั้นๆว่า “ฮิบ” ซึ่งเป็นแบคทีเรียสำคัญ ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก นอกจากนี้ยังมี ศ.นพ.มธุราม ซานโตชาม จากสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้นำโครงการฮิบ อินนิชิเอทีฟ ซึ่งผลักดันให้มีการฉีดวัคซีน ฮิบสำหรับเด็กทุกคนทั่วโลก
...
หลังจากพระราชทานรางวัลแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระดำรัสว่า การศึกษาค้นคว้าวิจัยด้านการแพทย์และการสาธารณสุขนั้น นอกจากจะต้องมีความมุมานะ อุตสาหะ อดทน และตั้งใจจริงแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจ และการทำงานให้ประสานส่งเสริมกัน ทั้งในระดับบุคคลและระดับประเทศด้วย จึงจะสำเร็จเป็นประโยชน์สูงสุด ผลงานของโครงการจีโนมมนุษย์เป็นตัวอย่างอันดีของการศึกษาค้นคว้าร่วมกันในระดับประเทศ จนได้มาซึ่งข้อมูลชีวภาพขนาดใหญ่ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ
ด้านผู้ได้รับพระราชทานรางวัล อาทิ นพ.จอห์น บี. รอบบินส์ กล่าวถึงความรู้สึกว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ เป็นครั้งหนึ่งในชีวิต คงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ที่ได้มีโอกาสมาเห็นพระบรมมหาราชวัง ซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน ได้เห็นผู้คนที่มีน้ำใจ น่ารักมาก ในการทำงานวิจัย ตนยังอยากจะแนะนำแพทย์และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่อยากจะประสบความสำเร็จต้องทำงานให้หนัก เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น ขี้สงสัยตลอดเวลา อย่าหยุดที่จะตั้งคำถาม ส่วน ศ.นพ.มธุราม ซานโตชาม เผยความรู้สึกว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ตนเคยได้อ่านพระราชประวัติและการทรงงานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก รู้สึกภูมิใจที่พระองค์ทรงงานหลากหลายด้านที่ช่วยมวลมนุษยชาติ ในการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ ตนอยากให้คนรุ่นใหม่ตั้งเป้าหมายให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนสมัยใหม่เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากกว่าคนสมัยก่อน ดังนั้น ในการทำงานอย่ายอมแพ้ อย่าท้อถอย ให้มุ่งมั่นกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ผลงานที่ตนทำนั้นอาจจะใกล้สำเร็จ แต่ก็มีมิติโรคที่หลากหลาย น่าสนใจ เช่นโรคที่ไม่ติดต่อ ซึ่งมีความยากมากกว่าโรคที่ติดต่อด้วยซ้ำ และ พญ.ราเชล ชเนียสัน กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจในการทำงานที่ผลงานได้รับการยอมรับ แต่ตรงนั้นไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญเท่ากับการมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาของการระบาดของโรค และสร้างการตระหนักรู้ให้สังคมโลกได้รับรู้ถึงอันตรายของเชื้อโรคนี้.