สถานการณ์และแนวโน้มภายนอก ปัจจัยภายนอกที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคประกอบด้วย ประการที่หนึ่ง Sustainable Development Goals ของสหประชาชาติ ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ 17 Goals และ 169 Targets (ภาพรวมการปฏิรูปประเทศ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค (ตอน 1))

โดยเป้าหมายที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านสุขภาพจะเป็นเป้าหมายที่ 3 โดยมี target ส่วนใหญ่เป็น target ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (มากกว่าด้านการรักษาพยาบาล) ประการที่สอง กฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation, IHR) และวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHSA) ที่มุ่งเน้นให้ประเทศต่างๆพัฒนาสมรรถนะด้านการป้องกันและควบคุมโรค โดยเฉพาะโรคที่อาจก่อให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขได้ โดยกำหนดประเด็นที่ต้องพัฒนาไว้ 19 ประเด็น และมีตัวชี้วัดความเข้มแข็งของระบบป้องกันควบคุมโรค 48 ตัวชี้วัด

ประการที่สาม ปฏิญญาต่างๆที่ประเทศไทยมีส่วนร่วม เช่น ASEAN Leaders' Declaration on Antimicrobial Resistance, ASEAN Agreement on disaster management and emergency response, Bangkok Charter (ด้าน Health Promotion) เป็นต้น

ปัจจัยภายนอกต่างๆเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ประเทศ ต้องพัฒนาและขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์และแนวโน้มภายใน การวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มภายใน มุ่งเน้นที่การวิเคราะห์เชิงระบบโดยนำ WHO Health Systems Framework และ Public Health Institute Frame work ของ U.S. Centers for Disease Control and Prevention มาใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์ ผลการวิเคราะห์ มีดังนี้

...

โครงสร้างของระบบสุขภาพ และป้องกันโรค เป็นระบบที่มีความซับซ้อนมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับองค์กร และหน่วยงาน และในระดับบุคคล โดยทั่วไปอาจแบ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบควบคุมป้องกันโรคเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้แก่ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมอื่นๆ ในกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอื่นๆ ภาคธุรกิจ เป็นต้น 2.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดงบประมาณและการเงินเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้แก่ สำนักงบประมาณ สำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น 3.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการหรือดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค เช่น โรงพยาบาล ทั้งในส่วนภาครัฐและเอกชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น NGO หน่วยงานของกระทรวงอื่นๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ (มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน) ต่างๆขึ้นมามากมายเพื่อขับเคลื่อนประเด็นงานที่หน่วยงานตนเองเป็นผู้รับผิดชอบหลัก

ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าการทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่มีเอกภาพ เท่าที่ควร หน่วยงานต่าง มีกฎหมายให้อำนาจกับหน่วยงานของตนเอง มีความสนใจของตนเอง ทำงานในกรอบและขอบเขตของงานที่หน่วยงานสนใจ (หน่วยงานกำหนดขึ้นเอง ในบางกรณีก็ไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด) จัดสรรงบประมาณตามความสนใจหลักของหน่วยงาน ซึ่งบางกรณีก่อให้เกิด การทำงานซ้ำซ้อนกัน และบางกรณีก็ไม่มีผู้รับผิดชอบงาน ขาดการบูรณาการ และการสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน การมีขอบเขตงานที่ไม่ชัดเจนในบางกรณีก่อให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันควบคุมโรคมีความล่าช้า และเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อประชาชน

ความสามารถในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันควบคุมโรคของชาติจำเป็นต้องอาศัยความเห็นพ้องต้องกันและร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ปัญหาในด้านการนำ การกำหนดทิศทางการทำงานที่มีความเป็นเอกภาพ (unity) และความสามารถในการประสานการทำงานร่วมกันเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน

ปัญหาด้านโครงสร้าง ของหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่อยู่แยกและกระจายตัวกันในหลายหน่วยงาน หลายกรมฯ รวมทั้งมีองค์กรมหาชนอีกหลายองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจำเป็นต้องได้รับการทบทวน

ระบบการเงินเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ในปัจจุบันเป็นระบบการเงินแยกส่วน แม้แต่ในภาครัฐ ยังมีหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเงิน มีระบบการเงินหลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ การเงินเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคยังมีงบประมาณสนับสนุนจากต่างประเทศ (ซึ่งมักจะมีประเด็นที่องค์กรต่างประเทศนั้นๆสนใจ) อีกด้วย ทำให้กลไกทางการเงินด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ความพยายามในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการป้องกันควบคุมโรคหนึ่งๆ

ที่ผ่านมาจึงมักประสบปัญหาหากหน่วยงานขับเคลื่อนไม่สามารถจัดหางบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายได้ทั้งหมด ความสามารถในการจัดระบบการเงินให้สามารถขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันควบคุมโรคให้ได้อย่างยั่งยืน นับเป็นความท้าทายต่อระบบสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง

อนึ่ง การยุติการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรระหว่างประเทศโดยฉับพลันทันที ในบางกรณีโดยเฉพาะในกรณีที่งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนอยู่ในระดับค่อนข้างสูง อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ในระยะสั้น เช่น ในกรณีกองทุนโลก เป็นต้น

นอกจากนี้ หน่วยงานบางหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลจัดสรรงบประมาณ ยังมีบทบาทหน้าที่อื่นๆด้วย เช่น เป็นผู้กำหนดนโยบาย (เช่น สปสช. และ สสส.) เป็นผู้ดำเนินการงานบางอย่างด้วยตัวเอง (เช่น สสส.) ซึ่งก่อให้เกิด conflict of interest ขึ้น จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขระบบงานด้านการเงินให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับนโยบาย/ทิศทางการดำเนินงานด้านการส่งเสริมเสริมสุขภาพและป้องกันโรค นอกจากนี้ การใช้จ่ายงบประมาณของบางองค์กร/หน่วยงาน จะต้องมีการตรวจสอบให้เชิงประสิทธิผลและประสิทธิภาพอย่างใกล้ชิด และจะต้องสร้างระบบ fiscal responsibility ให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว

...

กรณีตัวอย่าง : การใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินงานป้องกันการบริโภคยาสูบและแอลกอฮอล์ของ สสส. ที่ไม่ก่อให้เกิดการลดจำนวนผู้บริโภคลงเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ ผู้จัดการหรือบอร์ด สสส.

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องงบประมาณไม่เพียงพอ ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำงานหน่วยบริการสาธารณสุขไม่ได้จัดบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้เต็มที่ นั่นคือ ตราบใดที่เงินด้านการรักษาพยาบาลยังไม่เพียงพอ คงมีงบประมาณในระบบประกันสุขภาพน้อยมากที่จะได้รับการจัดสรรให้มาทำงานด้าน P&P

การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคด้วยมาตรการที่มีการยืนยันประสิทธิภาพเป็นทางออกของปัญหางบประมาณที่ไม่เพียงพอ หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับงาน P&P อย่างจริงจัง แต่ในประเทศไทยความจริงจังของการดำเนินงานด้าน P&P ยังคงเป็นเพียงวาทกรรมของผู้บริหารระดับสูง แต่ขาดการปฏิรูปงานอย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนได้จากแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่ยังคงให้ความสำคัญกับ “ซ่อมนำสร้าง” อยู่เช่นเดิม.

หมอดื้อ