ปัจจุบัน “โรคมะเร็ง” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่กว่า 120,000 ราย และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากกว่า 60,000 ราย โดยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในเพศหญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่
“มะเร็งเต้านม” เกิดจากเซลล์ของเต้านมที่มีการแบ่งตัวอย่างผิดปกติ และเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ส่วนใหญ่มักเกิดภายในท่อน้ำนม และสามารถกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายอย่างต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก
สาเหตุ
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ได้แก่
- พันธุกรรม หากใครที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ก็มีโอกาสเสี่ยงจะเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะโรคทางกรรมพันธุ์ เช่น ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของยีน BRCA ที่พบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุน้อยคืออายุ 30-40 ปี และมีสมาชิกในครอบครัวหลายคนเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่
- อายุ สามารถพบโรคมะเร็งเต้านมในคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และพบเพียงร้อยละ 10 ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี
- คนที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง ก็มีโอกาสที่จะตรวจพบมะเร็งเต้านมอีกข้างหนึ่งได้
- ฮอร์โมนเพศหญิง มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม ดังจะเห็นได้จากผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชายถึง 100 เท่า ผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกอายุน้อยหรือหมดประจำเดือนช้า มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนอื่น และผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตรหรือตั้งครรภ์ครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี มีความเสี่ยงกว่าผู้ที่ตั้งครรภ์อายุน้อย
...
- คนที่มีประวัติการได้รับรังสีบริเวณหน้าอก เมื่ออายุยังน้อย
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารที่มีไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วนหลังหมดประจำเดือน การใช้ฮอร์โมนเสริม ล้วนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมทั้งนั้น
อาการ
ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมจะมีอาการปวดบริเวณเต้านม มีก้อนที่เต้านม โดยที่ก้อนอาจจะมีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ มีสารคัดหลั่งจากหัวนม เช่น มีน้ำนมที่ออกผิดปกติ มีเลือดออกจากหัวนม เต้านมแดง มีผื่นคล้ายผิวส้ม หากพบว่าเต้านมของตนเองมีความผิดปกติดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์ทันที ผู้หญิงทุกคนที่อายุ 20 ปีขึ้นไป จึงควรตรวจเต้านมโดยตนเอง ซึ่งแนะนำให้ทำหลังอาบน้ำ ยืนอยู่หน้ากระจกและสังเกตการผิดรูปของเต้านม
การวินิจฉัยโรค
แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ร่วมกับผลการตรวจแมมโมแกรม หรือภาพอัลตราซาวด์เต้านม หากพบความผิดปกติในลักษณะที่น่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง แพทย์จะส่งตรวจชิ้นเนื้อโดยละเอียด เพื่อเป็นการยืนยันอีกครั้ง
การรักษา
การรักษาโรคมะเร็งเต้านมมีด้วยกันหลายทาง ดังนี้
@ การผ่าตัด มีด้วยกัน 2 วิธี คือ
ผ่าตัดออกทั้งหมด เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว มีผู้ป่วยหลายร้อยคนที่ต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด หรือเป็นการผ่าตัดเต้านมทั้งหมดร่วมกับการเสริมเต้านมไปพร้อมๆ กัน โดยนำเนื้อส่วนอื่นมาทำเป็นเต้านมเทียม หรือจะใส่ซิลิโคนเสริมก็ได้
ผ่าตัดบางส่วน เพราะผู้ป่วยมีความประสงค์จะเก็บเต้านมส่วนที่เหลือ หลังจากนั้นผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการฉายแสง ซึ่งเป็นการรักษาเสริมหลังผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคมะเร็งจะกลับเป็นซ้ำเช่น ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือมีการแตกเป็นแผลของก้อน การพบมะเร็งกระจายไปในต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้
@ การรักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยาใช้ทั้งในการรักษาเสริมหลังการผ่าตัดเพื่อลดโอกาสการกลับเป็นซ้ำของมะเร็ง หรือการรักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย เพื่อลดอาการของโรคมะเร็งและเพิ่มระยะเวลารอดชีพ โดยแบ่งชนิดของยาออกเป็น 3 ชนิด คือ ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมนและยามุ่งเป้า ซึ่งการเลือกชนิดยา ขึ้นกับผลการตรวจทางพยาธิสภาพจากชิ้นเนื้อมะเร็งว่าการรักษาใดที่ได้ผลกับผู้ป่วยรายนั้น เช่น สามารถใช้การรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนในผู้ป่วยที่พบตัวรับฮอร์โมนเพศหญิงในชิ้นเนื้อมะเร็ง สามารถใช้ยามุ่งเป้าในผู้ป่วยที่ตรวจชิ้นเนื้อก้อนเนื้อมะเร็งโดยการย้อมพิเศษทางพยาธิวิทยาแล้วผลตัวรับเฮอร์ทู (HER-2 receptor) ออกมาเป็นบวก แสดงว่าเป็นมะเร็งที่เกิดจากการกลายพันธุ์เพิ่มปริมาณของยีนก่อมะเร็งเฮอร์ทูซึ่งมีแนวโน้มที่โรคจะลุกลามอย่างรวดเร็ว
ยาเคมีบำบัด คือ สารเคมีที่ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งมีประสิทธิภาพดีในการรักษามะเร็งเต้านม โดยอาจมีผลข้างเคียงบ้างคือ ผมร่วง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูกหรือท้องเสีย อ่อนเพลีย การกดการทำงานของไขกระดูก การมีโลหิตจาง จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ จัดเป็นการรักษาหลักในการรักษามะเร็งเต้านม
...
ยาต้านฮอร์โมน ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า ฮอร์โมนเพศหญิงมีส่วนกระตุ้นให้มะเร็งเต้านมเติบโต จึงต้องให้ยาเพื่อลดฮอร์โมนเพศหญิง จะช่วยควบคุมมะเร็งได้ดี โดยได้ประโยชน์เฉพาะผู้ป่วยที่พบตัวรับฮอร์โมนเพศหญิงในชิ้นเนื้อมะเร็ง
ยามุ่งเป้า ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็ง ซึ่งตัวรับเฮอร์ 2 นั้นมีผลต่อการกระตุ้นการเติบโตของมะเร็ง เมื่อแพทย์ใช้ยาที่ต้านการทำงานของตัวรับเฮอร์ 2 ก็จะไปหยุดยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็ง และเป็นการเสริมให้ยาเคมีบำบัดทำงานได้ดีอีกด้วย
สิ่งที่ช่วยในการรักษาได้ผลดี คือการร่วมกันตัดสินใจในการรักษามะเร็งระหว่างแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย การสื่อสารที่ดีระหว่างแพทย์เละผู้ป่วยจะนำมาซึ่งผลการรักษาที่ดี
______________________________________________
แหล่งข้อมูล
อ.นพ.พิชัย จันทร์ศรีวงศ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
ขอขอบคุณ : ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/