คุณเคยมีอาการเหล่านี้บ้างไหม
“ล็อกประตูหรือยังนะ ปิดแก๊สหรือยังนะ ปิดไฟหรือยังนะ ขอกลับไปดูอีกรอบ”
“มือยังสกปรกอยู่เลย ต้องไปล้างอีก”
“อยู่ๆ ก็มีคำด่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาในความคิด เราคิดแบบนี้จะบาปไหมนะ”
หากใครที่มีความคิดเหล่านี้อยู่บ่อยๆ จนกระทั่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่สามารถทำการงานต่างๆ หรือกิจวัตรประจำวันได้เหมือนเดิม และเกิดความรู้สึกทรมานใจกับความคิดดังกล่าวนี้ นั่นแสดงว่าคุณอาจเข้าข่ายที่จะมีอาการของการเป็น “โรคย้ำคิดย้ำทำ” (Obsessive Compulsive Disorder หรือ OCD)
“โรคย้ำคิดย้ำทำ” (Obsessive Compulsive Disorder หรือ OCD) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความคิดซ้ำๆ และมีการทำพฤติกรรมซ้ำๆ เพื่อตอบสนองต่อความคิดและบรรเทาความรู้สึกกังวลใจที่เกิดขึ้น
สาเหตุของโรค
ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ได้แก่
1. พันธุกรรม หากคนที่มีคนในครอบครัวหรือญาติสายตรงเป็นโรคนี้ ก็มีโอกาสที่คุณจะเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็น
2. การทำงานของสมองบางส่วนที่มากกว่าปกติ และสารสื่อประสาทเซโรโตนินที่เสียสมดุล
3. การแปลความคิดที่ผุดขึ้นมามากเกินจริง อาจเป็นอันตรายเกินจริง เช่น รู้สึกว่าตัวเองมือสกปรก อาจเกิดการติดเชื้อในร่างกายจนเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต จึงต้องล้างอยู่ตลอดเวลา
4. ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เชื่อว่าคนไข้มีแรงผลักดันด้านลบบางอย่างภายในจิตใต้สำนึก และการพยายามจัดการแรงผลักดันนั้น ทำให้เกิดอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำขึ้นมา
...
อาการมี 2 ลักษณะ คือ
อาการย้ำคิด ได้แก่ ความคิด แรงผลักดันภายในหรือภาพที่ผุดขึ้นเองอย่างซ้ำๆ โดยรู้สึกว่าไม่มีเหตุผล น่ารังเกียจ ยอมรับไม่ได้ ไม่อยากนึกถึง เช่น กลัวหรือรังเกียจสิ่งสกปรก สิ่งปนเปื้อน, ลังเลสงสัย อาการไม่แน่ใจว่าปิดแก๊สหรือยัง ปิดไฟหรือยัง ล็อกประตูบ้านหรือยัง ล็อกรถหรือยัง, ต้องการทำสิ่งต่างๆ ให้สมมาตร เที่ยงตรงเท่าๆ กัน การจัดของให้เป็นระเบียบ, กลัวความไม่สมบูรณ์ มีจุดด่างพร้อย หรือมีข้อบกพร่อง
อาการย้ำทำ เป็นการกระทำซ้ำๆ เพื่อป้องกันหรือลดความไม่สบายใจจากความย้ำคิด ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ทำแล้วเห็นได้ชัดจากภายนอก หรืออาจจะเป็นสิ่งที่คนภายนอกไม่เห็นก็ได้ แต่เกิดขึ้นในความคิดของคนๆ นั้นที่เรียกว่าการย้ำทำในใจ ทำให้เราหมดเวลาไปกับสิ่งเหล่านี้ และทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน
อาการย้ำทำมีหลายอย่าง เช่น ล้างมือซ้ำๆ หลายๆ รอบ, อาบน้ำบ่อยๆ แปรงฟันซ้ำๆ ทำความสะอาดของใช้ในบ้านบ่อยๆ, คอยตรวจสอบลูกบิดประตู ก๊อกน้ำหรือเตาแก๊สซ้ำๆ, เก็บสะสมของไม่ยอมทิ้ง ซึ่งมักเป็นของที่ไม่มีประโยชน์หรือเป็นขยะ, ย้ำทำในใจ โดยไม่ได้แสดงออกมาภายนอก เช่น สวดมนต์ในใจ หรือท่องคำบางคำอยู่ในใจ หลังจากที่คิดว่าตัวเองทำอะไรไม่ดีบางอย่าง เป็นต้น
-------------------------------------------------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
ผศ.พญ.ธนิตา ตันตระรุ่งโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ขอขอบคุณ : ภาพประกอบจาก https://pixabay.com/