วิกฤติอุทกภัยทำพิษภาคอีสานอ่วมหนัก โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น เพชรบูรณ์ ถ้าใกล้ๆ กรุงเทพฯ หน่อย ก็จะเห็นว่ามวลน้ำไหลทะลักเข้าอยุธยาแล้ว งานนี้มีหวั่นๆ เหมือนกันนะว่านำ้จะเข้ากรุงมั้ยน้อ?

วันนี้ปริมาณน้ำที่สกลนครจะเริ่มลดลงแล้ว ส่วนบางจังหวัดก็ยังต้องสู้ภัยน้ำท่วมต่อไป โดยมีหลายหน่วยงานเข้าไปให้ความช่วยเหลือ แต่สำหรับบางพื้นที่ก็ยังน่าห่วง โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (บางอำเภอท่วมแล้ว) ปทุมธานี หรือแม้กระทั่งกรุงเทพฯ มีท่าทีว่าอาจจะต้องรับก้อนน้ำมวลใหญ่?

ยังไงก็ต้องป้องกันไว้ก่อน เอาเป็นว่าถ้าน้ำไม่มาก็ดีไป แต่ถ้าน้ำมาจริงๆ เราก็ต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี ไทยรัฐออนไลน์ มีวิธีรับมือภัยน้ำท่วมมาฝากกัน

1. ตามปกติหากสถานการณ์ไม่น่าไว้ใจ เจ้าหน้าที่จะเริ่มประกาศเตือนภัย หากได้ยินประกาศเตือนภัยน้ำท่วม สิ่งที่ต้องทำทันทีคือ ติดต่อสอบถามหน่วยงานที่จัดการด้านน้ำท่วม หรือหาข้อมูลด้วยตัวเองว่า ภายในละแวกบ้านของคุณเคยเกิดน้ำท่วมสูงที่สุดประมาณกี่เมตร จากนั้นก็คาดคะเน เตรียมการจัดเก็บของขึ้นที่สูงให้พ้นน้ำ

...

2. เตรียมจดเบอร์โทรศัพท์สำคัญของหน่วยงานต่างๆ ไว้ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้โทรขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที เช่น

- ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ติดต่อกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร. 1784
- ประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ โทรฟรี 1669 หรือ 0-2591-9769 ตลอด 24 ชั่วโมง
- สอบถามสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา โทร. 0-2398-9830

3. คาดคะเนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นที่บ้านของคุณ สำรวจเส้นทางการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดจากบ้าน ไปยังที่สูงหรือพื้นที่ปลอดภัยที่ทางการจัดไว้ให้ ถ้ามีรถยนต์ นำรถยนต์ไปจอดไว้ในพื้นที่ซึ่งน้ำไม่ท่วมถึง พร้อมโทรหาประกันรถยนต์ ประกันทรัพย์สินต่างๆ ที่คุณทำไว้

4. เตรียมเสบียงอาหารสำเร็จรูป น้ำดื่ม อาหารแห้ง และอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ เช่น เสื้อชูชีพ บูทกันน้ำแบบขายาว วิทยุแบบพกพา อุปกรณ์ทำอาหารฉุกเฉิน เทียนไข ไฟแช็ก และไฟฉาย รวมทั้งแบตเตอรี่สำรอง ทำบันทึกรายการทรัพย์สินมีค่าทั้งหมด ถ่ายรูปหรือวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐาน

5. เตรียมยารักษาโรคให้พร้อม ยาโรคประจำตัวและยาสามัญประจำบ้าน ได้แก่ ยาลดไข้ ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้น้ำกัดเท้า ยาทาแผล และยาแก้พิษจากการกัดต่อยของสัตว์มีพิษ แต่ถ้าบ้านไหนมีคนพิการ คนป่วย เด็กทารก หรือสตรีมีครรภ์ใกล้คลอด ควรแจ้งหน่วยงานราชการทันที

...

6. จัดหาอุปกรณ์และวัสดุที่จะนำมากั้นไม่ให้น้ำเข้าตัวบ้าน เช่น กระสอบทราย แผ่นพลาสติก ไม้แผ่น ตะปู กาวซิลิโคน เป็นต้น รวมถึงสิ่งป้องกันน้ำอื่นๆ เช่น รองเท้าบูท ถุงมือกันน้ำ กางเกงใน ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก ยาทากันยุง ยาฆ่าแมลง ทำอุปกรณ์จัดเตรียมสำหรับเก็บของเสียจากการขับถ่าย

7. ถ้ายังพอมีเวลา ควรพิจารณาย้ายปลั๊กไฟและสวิทช์ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับต่ำ ให้อยู่สูงขึ้น ถ้าย้ายไม่ทันแล้ว ก็ให้ตัดไฟฟ้าให้เรียบร้อย ตรงไหนเสี่ยงจะเกิดไฟรั่ว ก็จัดการปิดสวิทช์หรือพันหุ้มสายไฟต่างๆ ให้เรียบร้อย ป้องกันไฟรั่วไฟดูด

8. ถ้าน้ำมาเร็ว ไหลแรง และท่วมสูงเร็ว ข้อควรปฏิบัติคือ ห้ามออกมาเดินลุยน้ำระหว่างที่น้ำไหลเชี่ยวกราก เพราะอาจเสียหลักล้มได้ ยิ่งว่ายน้ำไม่เป็นก็เสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิต หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำออกมา ต้องใส่เสื้อชูชีพ มีไม้ค้ำระหว่างเดิน เพื่อวัดความลึกของน้ำในจุดที่จะต้องเดินผ่าน

9. ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทันทีหากน้ำไหลทะลักเข้าบ้านแล้ว แม้ในขณะที่ไม่เสียบปลั๊กก็ห้ามใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ ระวังแก๊สรั่ว และให้ระวังสัตว์อันตราย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น

...

10. ใส่รองเท้าทุกครั้งที่ต้องเดินลุยน้ำ เดินอย่างระมัดระวัง บางจุดจะลื่นมากอาจล้มได้ ระวังอันตรายจากเศษแก้ว เข็ม ซากสิ่งของที่พังลอยมากับน้ำ

   

ที่มาภาพบางส่วน : มหัศจรรย์สกลนครcunwarawut, ข้อมูลบางส่วน : cmu.ac.th

...