คนเราควรจะมีตู้เสื้อผ้าสักกี่ใบถึงจะพอดีกับการใช้งาน คำตอบที่ได้อาจต่างกันไปตามความชื่นชอบในแฟชั่น หน้าที่การงาน และไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม หากจัดระเบียบดีๆ เราจะมีตู้เสื้อผ้าที่เป็นระบบระเบียบแบบที่ว่า ทั้งคนรักการแต่งตัวสุดๆ และคนแต่งตัวง่ายๆ ก็สามารถหยิบใช้ได้สะดวกไม่ต่างกัน 

วันนี้เรามีไอเดียการจัดเก็บเสื้อผ้าแบบเป็นระเบียบ และหยิบใช้ง่ายมาฝากกัน ไม่จำเป็นต้องทำห้องเป็นวอล์กอินคลอเซตก็ได้ แต่ควรเลือกตู้เสื้อผ้าที่มีช่องชั้นสำหรับเก็บของ จะใช้หลายใบวางต่อกันก็ได้ แต่แยกการใช้งานให้เป็นสัดส่วน รวมถึงการเลือกหน้าบานตู้สวยๆ ก็ทำให้ตู้เสื้อผ้าทั้งแบบลอยตัว และงานบิวต์อินกลายเป็นนางเอกของห้องได้ ไม่แพ้เฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นแน่นอน


แบ่งพื้นที่ที่ใช่ให้สิ่งของในตู้เสื้อผ้า

สิ่งแรกที่ต้องทำก่อนจัดระเบียบตู้เสื้อผ้าก็คือ ตัดความเสียดาย ตัดใจทิ้งหรือบริจาคเสื้อที่ซื้อมาไม่เคยใส่ เสื้อผ้าเก่าเก็บที่รอว่าเทรนด์นี้จะกลับมาฮิต สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุให้ตู้เสื้อผ้าของเรารกอยู่เสมอ ลองทำบัญชีรายการสิ่งจำเป็นในปัจจุบัน อะไรที่ควรอยู่ในตู้เสื้อผ้าบ้าง บางบ้านไม่ได้มีแค่เสื้อผ้า แต่มีรองเท้า กระเป๋าเดินทาง และอุปกรณ์อื่นๆ ด้วย หากแบ่งพื้นที่ให้ชัดเจนว่าชั้นไหน ลิ้นชักใดเก็บอะไรบ้าง ต่อมา คือหาอุปกรณ์เสริม เช่น กล่องเก็บเครื่องประดับ อุปกรณ์แบ่งช่องสำหรับจัดเก็บเนคไท นาฬิกา หรือชุดชั้นใน ก็จะช่วยให้ตู้เสื้อผ้าดูเป็นหมวดหมู่ หยิบใช้งานได้ง่ายขึ้น เราลองทำรายการแบ่งของใช้เหล่านี้เป็นประเภท แยกของชายและหญิงดังนี้

...

Lady

เสื้อยืดและชุดอยู่บ้าน : ชุดอยู่บ้านอย่างกางเกงขาสั้น เสื้อลำลอง เสื้อยืด หรือชุดนอน สามารถจัดให้อยู่ในหมวดนี้ได้

เสื้อเชิ้ตและชุดทำงาน : เสื้อผ้าที่เป็นทางการ และสูทสำหรับออกงาน ควรจัดเก็บแบบแยกเป็นสัดส่วน โดยใส่ถุงผ้าไว้หากไม่ได้ใช้งาน 

ชุดกระโปรงยาว : ต้องแขวนในพื้นที่ที่มีความสูงเพียงพอ เพื่อไม่ให้ชุดเสียทรง ความสูงของราวแขวนไม่ควรต่ำกว่า 1.50 เมตร 

เสื้อชั้นใน : แยกประเภทและพับแยกเก็บไว้ในลิ้นชัก แบ่งช่องหนึ่งไว้สำหรับส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ หรือของใช้สำหรับเดินทางไปต่างประเทศ เช่นลองจอน หรือถุงเท้า 

กระเป๋าและกระเป๋าเดินทาง : กระเป๋ามีราคาควรใส่ตู้แยกไว้ เก็บถุงผ้าที่ได้ตอนซื้อเอาไว้ ตอนจัดเก็บให้ทำความสะอาดทุกครั้งแล้วใส่ถุงผ้าดังกล่าว เก็บในตู้โปร่งระบายอากาศได้ดี เช่น หน้าบานที่มีการเว้นร่องระบายอากาศ หรือตู้หน้าบานกระจกใส 

รองเท้าส้นสูง : หากเป็นคู่ที่มีราคาควรเช็ดทำความสะอาดก่อนเก็บลงกล่อง เลือกกล่องที่มีรูระบายอากาศได้ บ้านที่มีตู้รองเท้าหรือห้องรองเท้าควรแยกให้เป็นระเบียบ แต่หากพื้นที่จำกัดให้ใส่ไว้ในตู้เสื้อผ้า ส่วนชั้นล่างสุดก็หยิบใช้ง่ายเหมือนกัน 

ตู้เซฟขนาดเล็ก : เครื่องประดับมีราคาจัดเก็บในตู้ให้เรียบร้อย ทำให้ปลอดภัยดีและหยิบใช้ง่าย เลือกรุ่นเล็กขนาดไม่เกิน 50 เซนติเมตรก็สะดวกกับการวางไว้ในตู้เสื้อผ้า

Gentleman

เสื้อยืดและชุดอยู่บ้าน : พับแยกประเภทเสื้อใส่อยู่บ้านที่ออกไปนอกบ้านได้อย่างเสื้อยืดและเสื้อสำหรับใส่นอน เพื่อให้หยิบใช้ได้สะดวกขึ้น 

กางเกงยีนและกางเกงทำงาน : พาดไว้กับราวแขวนกางเกงในตู้ ซึ่งควรมีความสูงจากพื้นไม่ต่ำกว่า 75-80 เซนติเมตร อย่าลืมว่ากางเกงยีนส์ที่ตั้งใจเฟดให้ดูเก่า และไม่ได้ซักบ่อยๆ ควรแขวนแยกไว้ด้านนอกตู้ 

เสื้อเชิ้ตและชุดสูททางการ : แยกประเภทเสื้อเชิ้ตลำลองและเสื้อทำงาน เพื่อให้หยิบใช้งานและจัดเก็บหลังซักรีดได้ง่ายขึ้น ชุดสูทออกงานเก็บใส่ถุงผ้าแขวนแยกตู้ไว้รวมกับเสื้อและอุปกรณ์กันหนาวก็ได้ 

กางเกงชั้นในและถุงเท้า : แยกลิ้นชักสำหรับกางเกงชั้นในและถุงเท้า ของใหม่ ยังไม่ได้ใช้หรือใช้สำหรับสำรองจัดรวมไว้กับอุปกรณ์กันหนาวได้ 

ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู และชุดผ้าปูที่นอน : ของใช้ประเภทนุ่มฟู เช่น ผ้าขนหนูต่างๆ ควรซักอาทิตย์ละครั้ง หากจะให้สะอาด ไม่เป็นที่สะสมของไรฝุ่นและเชื้อรา ควรซักอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ดังนั้นควรมีผ้าสำรองจัดเตรียมไว้ด้วย 

เครื่องประดับเสริมหล่อ : ใครว่าผู้ชายไม่มีเครื่องประดับ ของประดับเล็กๆ เสริมหล่ออย่างที่ติดเนคไท เข็มกลัด ผ้าเช็ดหน้า เข็มขัด เนคไท นาฬิกา และหมวก ควรมีที่เก็บอย่างเป็นระเบียบ อาจหากล่องสำหรับใส่นาฬิกาและเครื่องประดับโดยเฉพาะแยกไว้ เนคไทม้วนเก็บใส่ในลิ้นชัก มีที่แขวนหมวกและเข็มขัดด้วย 

กระเป๋าเดินทาง : ทำความสะอาดแล้วเก็บใส่ถุงผ้าใบใหญ่หรือใส่ถุงพลาสติก ก่อนเก็บไว้ในตู้ด้านบนสุด

...

ที่มา - บ้านและสวน
www.baanlaesuan.com