ช่วงวัยแรกเกิดจนถึง 5 ขวบปีแรกของชีวิตในเด็กทุกคน เป็นช่วงเวลาสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ ภาษา ทักษะสังคมและอารมณ์ สมองของเด็กจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ในครรภ์มารดาไปจนถึงช่วงปฐมวัย โดยเซลล์สมองของมนุษย์จะสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกันเป็นจำนวนมหาศาลจากประสบการณ์ และสิ่งกระตุ้นที่ได้รับจากสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู แม้การศึกษาในปัจจุบันจะพบว่า ความสามารถของเด็กจะถูกกำหนดโดยพันธุกรรมบางส่วน แต่สิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูก็ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเติบโตและพัฒนาของมนุษย์ ซึ่งในช่วงปฐมวัยเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่ผู้ปกครองจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกโดยการเรียนรู้ผ่านการเล่น การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม รวมถึงการดูแลทางสุขภาพและโภชนาการที่เหมาะสม

พัฒนาการและคำแนะนำในการกระตุ้นพัฒนาการตามวัย

ช่วงวัยแรกเกิด-6 เดือน


พัฒนาการตามวัย

● 1 เดือน เด็กควรยกศีรษะได้เล็กน้อยในท่านอนคว่ำ กระพริบตาเมื่อเจอแสง จ้องและมองตามวัตถุถึงกึ่งกลางลำตัว ตอบสนองต่อเสียงดังด้วยอาการสะดุ้ง

● 2 เดือน เด็กเริ่มชันคอได้ จ้องหน้าสบตา ยิ้ม และส่งเสียงอ้อแอ้

● 4 เดือน ชันคอได้ดี เริ่มพลิกคว่ำ เอามือมาจับกันตรงกลาง เริ่มคว้าของด้วยฝ่ามือ หัวเราะเสียงดัง

การกระตุ้นพัฒนาการตามวัย

เด็กในวัยนี้จะพัฒนาสมองในด้านประสาทสัมผัสมากที่สุด จึงแนะนำให้ผู้ปกครองนวดสัมผัสที่ร่างกาย พูดคุยมองหน้าสบตา และให้เด็กได้ใช้ร่างกายหยิบจับและสัมผัสพื้นผิววัตถุต่าง ๆ โดยเด็กในวัยนี้จะสนใจวัตถุที่มีสีสันสดใส สามารถนำของเล่นที่มีสีสันสดใสมาใช้ดึงความสนใจให้เด็กมองตามและคว้าจับได้ นอกจากนี้ อาจเปิดโอกาสให้ลูกนอนคว่ำเป็นระยะ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อลำคอและลำตัว

...

ข้อควรระวัง

หลีกเลี่ยงการให้ลูกนอนคว่ำโดยไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น และการไหลตายในเด็ก อย่าเขย่าตัวเด็กแรง ๆ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อสมองได้

ช่วงวัย 6-12 เดือน

พัฒนาการตามวัย

● 6 เดือน เด็กควรนั่งเองได้ชั่วครู่ ใช้มือหยิบของและเปลี่ยนมือถือของได้ เริ่มหันหาเสียงเรียกชื่อ ส่งเสียงที่มีเสียงพยัญชนะ เช่น ปะ มะ เริ่มรู้จักคนแปลกหน้า

● 9 เดือน คลานคล่อง เกาะยืนได้ ใช้นิ้วหยิบของชิ้นเล็กได้ เข้าใจสีหน้าท่าทาง เข้าใจคำสั่งห้าม เปล่งเสียงพยัญชนะได้หลายเสียงแต่ยังไม่มีความหมาย เช่น ปาปาปา ยายายา เล่นจ๊ะเอ๋ได้

● 12 เดือน ยืนเองได้ชั่วครู่ หรือเดินเอง หรือเดินโดยจูงมือเดียว หยิบของใส่ถ้วยหรือกล่องได้ ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ที่มีท่าทางประกอบได้ พูดคำที่มีความหมายได้อย่างน้อย 1 คำ เรียกพ่อ/แม่ได้ เลียนแบบท่าทาง โบกมือทักทาย สวัสดี

การกระตุ้นพัฒนาการตามวัย

การเล่นที่เหมาะสมสำหรับเด็กในวัยนี้คือการเล่นแบบมีปฏิสัมพันธ์ง่าย ๆ เช่น จ๊ะเอ๋ ตบแปะ เพื่อกระตุ้นให้เด็กสนใจและพัฒนาทักษะสังคมร่วมกับผู้อื่น รวมถึงเด็กจะเริ่มเลียนเสียงคำพูดของผู้ใหญ่ การพูดคุยอ่านนิทานจะช่วยเสริมทักษะทางภาษาและปฏิสัมพันธ์กับผู้เลี้ยงดูได้ดี นอกจากนี้ผู้เลี้ยงดูยังอาจช่วยส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดใหญ่โดยการพาเกาะยืน เดินโดยจับมือพยุง

ข้อควรระวัง

1. คอยดูแลความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อม เช่น ปิดปลั๊กไฟ เก็บของมีคม เก็บของที่มีโอกาสเป็นสารพิษ เพราะเด็กเริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้น

2. อย่าปล่อยให้เด็กเล่นของชิ้นเล็กที่สามารถใส่ปากได้หรือสามารถแตกหักได้ เพราะอาจทำให้เกิดการสำลักและอุดกั้นทางเดินหายใจ

3. ไม่ปล่อยให้เด็กนั่งเล่นน้ำตามลำพังแม้เพียงชั่วขณะ

สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพัฒนาการและคำแนะนำในการกระตุ้นพัฒนาการตามวัยช่วงเดือน 13-24 เดือน ช่วงวัย 2-3 ปี และช่วงวัย 4-5 ปี รอติดตามกันนะคะ

แหล่งข้อมูล
อ. พญ.กนกพรรน ชูโชติถาวร สาขาพัฒนาการและพฤติกรรม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล