หลังจากวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ หลายคนอาจรู้สึกเหนื่อย เบื่อหน่าย ไม่อยากกลับไปเผชิญหน้าจอคอมและกองงานที่รออยู่ บางคนอาจถึงขั้นรู้สึกเศร้า หงุดหงิดง่าย ไม่มีแรงจูงใจในการลุกจากเตียง ซึ่งอาการเหล่านี้อาจกำลังสะท้อนถึงสิ่งที่เรียกว่า “Holiday Blues” หรือ ภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่ดูแล อาจลุกลามไปสู่ “Burnout Syndrome” หรือภาวะหมดไฟในการทำงานได้โดยไม่รู้ตัว
จาก Holiday Blues อาจนำไปสู่ Burnout Syndrome
“Holiday Blues” คือภาวะความรู้สึกหดหู่หรือไม่มีพลังหลังจากช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย เช่น วันหยุดยาวหรือทริปพักผ่อนกับครอบครัว เมื่อกลับมาสู่ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะการทำงาน จิตใจจึงต่อต้านโดยธรรมชาติ ซึ่งอาการมักจะค่อยๆ ดีขึ้นในไม่กี่วัน แต่หากยังรู้สึกเบื่อหน่ายต่อเนื่องเกิน 3-5 วันและไม่สามารถกลับเข้าสู่โหมดการทำงานได้เลย อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นว่าเรากำลังเริ่มเข้าสู่ภาวะ Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังและแรงกดดันในชีวิตการทำงาน จนส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ที่ต้องใส่ใจมากขึ้น
สัญญาณเตือนว่าคุณอาจกำลังเผชิญกับ Burnout Syndrome
Burnout Syndrome ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว แต่อาจค่อย ๆ สะสมจากความเครียดเรื้อรังและความคาดหวังที่หนักหน่วง โดยมีสัญญาณที่ควรเฝ้าระวัง
- สัญญาณทางร่างกาย (Physical) ได้แก่ เหนื่อยล้าเรื้อรัง รู้สึกหมดแรงตลอดเวลา ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ไม่มีสมาธิ ความสามารถในการจดจำลดลง ภูมิคุ้มกันต่ำ เจ็บป่วยง่าย
...
- สัญญาณทางอารมณ์ (Emotional) ได้แก่ หดหู่ เบื่อหน่าย รู้สึกไม่มีความสุขในการทำงาน โกรธง่าย หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน มองโลกในแง่ลบ ไม่มั่นใจในตนเอง รู้สึกไม่อยากตื่นไปทำงาน รู้สึกว่าชีวิตไม่มีจุดหมาย
- สัญญาณทางพฤติกรรม (Behavioral) ผลงานตก ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงผัดวันประกันพรุ่ง ขาดความคิดสร้างสรรค์ แยกตัว ไม่อยากพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน เริ่มใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดเพื่อหลบหนีความเครียด

วิธีรับมือ Holiday Blues และป้องกันการลุกลามสู่ Burnout Syndrome
1. ค่อยๆ ปรับจังหวะชีวิตหลังวันหยุด อย่ารีบกระโจนเข้าสู่การทำงานเต็มสปีดในวันแรก ลองจัดลำดับงานใหม่ เริ่มจากสิ่งง่ายๆ ก่อน เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ปรับตัวอย่างนุ่มนวล
2. ให้เวลาร่างกายได้ฟื้นตัว พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน พยายามนอนให้ตรงเวลา และหลีกเลี่ยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน เพื่อช่วยให้นอนหลับมีคุณภาพ
3. ออกกำลังกายและกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น เดินเร็ว โยคะ หรือว่ายน้ำ ช่วยกระตุ้นสารแห่งความสุข (Endorphins) ส่วนอาหารที่ดีมีประโยชน์จะช่วยเพิ่มพลังให้ร่างกาย
4. จัดการเวลาทำงานให้สมดุล อย่านำงานกลับมาทำที่บ้านบ่อยเกินไป พยายามแยกงานออกจากชีวิตส่วนตัว และอย่ากดดันตัวเองกับคำว่า “ต้องเสร็จเร็ว ต้องสมบูรณ์แบบ”
5. เปิดใจพูดคุยกับคนที่ไว้ใจ เพราะการได้ระบายความรู้สึกกับเพื่อน คนในครอบครัว หรือคนที่เข้าใจ เป็นทางออกที่ช่วยลดความเครียดได้อย่างมีพลัง
6. ขอลาพักร้อนระยะสั้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องรอวันหยุดยาวถึงจะพัก ลาพักร้อนสั้น ๆ เช่น 1-2 วัน เพื่อชาร์จแบตจิตใจ ก็สามารถช่วยป้องกัน Burnout ได้เช่นกัน
7. หมั่นทบทวนความหมายของงานที่ทำ การถามตัวเองว่า “งานที่เราทำมีคุณค่ากับชีวิตเราหรือไม่?” หรือ “เราทำงานเพื่ออะไร?” อาจช่วยให้กลับมามีแรงใจ และปรับมุมมองใหม่ต่อหน้าที่การงาน

แม้ Holiday Blues จะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากมองให้ลึกขึ้น มันคือสัญญาณจากใจที่บอกเราว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องฟังตัวเองอย่างแท้จริง สุขภาพจิตคือรากฐานของทุกความสำเร็จ เมื่อสภาวะจิตใจดี... งานก็จะออกมาดี ชีวิตก็จะสมดุล และ Burnout จะไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป
...
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 3