“แมลงสาบ” เป็นแมลงที่มักพบในที่พักอาศัยในเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น สามารถอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้หลากหลายพื้นที่ เช่น บ้าน อาคารสำนักงาน หรือที่พักอาศัย โรงเรียน แต่มักอยู่ชุกชุมในบริเวณที่มีอาหาร ได้แก่ ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร หรือในสถานที่สาธารณะที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เช่น ร้านอาหาร โรงอาหาร ความจริงแล้วแมลงสาบสามารถอยู่ได้ทุกที่ และไม่ได้หมายความว่าบ้านหรือพื้นที่อยู่อาศัยนั้นไม่สะอาดแต่อย่างใด
สายพันธุ์แมลงสาบที่พบบ่อย และเป็นตัวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้ ได้แก่ สายพันธุ์อเมริกัน (American cockroach) และเยอรมัน (German cockroach) ในที่พักอาศัยสามารถพบแมลงสาบได้ทั้ง 2 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ American มักพบอยู่ตามนอกอาคารมากกว่า ส่วนสายพันธุ์ German จะพบอยู่ภายในอาคารมากกว่า
แมลงสาบเป็นสาเหตุหลักของการกระตุ้นภาวะโรคภูมิแพ้จมูก จากการศึกษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูกในประเทศไทย เพื่อหาสารก่อภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง พบว่าผู้ป่วยมีปฏิกิริยาต่อแมลงสาบประมาณร้อยละ 36-41
สารจากแมลงสาบที่เป็นตัวกระตุ้นหลัก คือ สารคัดหลั่ง น้ำลาย อุจจาระ และเศษซากของแมลง สารก่อภูมิแพ้จากแมลงสาบมักมีขนาดใหญ่กว่า 10 ไมโครเมตร มักจะปะปนอยู่กับเศษฝุ่นในบ้าน และสามารถฟุ้งกระจายได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ เมื่อโดนรบกวน เช่น การกวาดบ้าน แต่ก็มีบางส่วนที่มีขนาดเล็กกว่า 5 ไมโครเมตร ซึ่งสามารถฟุ้งกระจายในอากาศได้
การวินิจฉัย
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคภูมิแพ้จมูก โดยใช้อาการทางจมูก ที่มีอาการทั้ง 2 ข้าง และมีอาการเกือบทุกวัน (มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ชั่วโมง/วัน เป็นระยะเวลามากกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี) โดยอาการทางจมูกใช้มากกว่าหรือเท่ากับ 2 อาการ ดังต่อไปนี้ ได้แก่ อาการคันจมูก จาม คัดจมูก และน้ำมูกไหล และอาจจะมีโรคร่วมอื่น ๆ ที่ช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย เช่น โรคหืด โรคภูมิแพ้ดวงตา โรคผื่นภูมิแพ้อักเสบผิวหนัง ภาวะแพ้อาหาร
...
ส่วนการวินิจฉัยภูมิแพ้ต่อแมลงสาบ ใช้ประวัติอาการทางจมูกที่แย่ลงเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ ร่วมกับการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจการสะกิดผิวหนัง (Skin prick test) หรือการตรวจเลือดอิมมูโนโกลบูลินอีที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้ (serum specific IgE)

การจัดการแมลงสาบ ทำได้ดังนี้
1. เลี่ยงการรับประทานอาหารในห้องนอน
2. เก็บขยะและเศษอาหารให้สะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร ปิดถังขยะให้มิดชิด และทิ้งขยะสม่ำเสมอ
3. ล้างจาน และบริเวณที่ปรุงอาหารทันทีหลังใช้งานเสร็จ
4. ปิดช่องว่าง หรือรอยซอกที่บ้าน เช่น ตามกำแพง หน้าต่าง ท่อระบายน้ำ เนื่องจากแมลงสาบสามารถลอดเข้ามาได้
5. ไม่แนะนำให้ใช้เหยื่อ หรือกาวดักแมลงสาบ เพราะจะเป็นการพาแมลงสาบมาให้อยู่ในบ้าน และกระตุ้นอาการภูมิแพ้ได้ แนะนำใช้เหยื่อ หรือเจลกำจัดแมลงสาบ ชนิดกลับไปตายที่รัง
6. ไม่แนะนำให้ใช้ลูกเหม็น (naphthalene) เพราะเป็นสารระเหิด กระตุ้นให้ระคายเคืองจมูกได้
ทั้งนี้ แนะนำให้ใช้หลาย ๆ วิธีร่วมกัน จะทำให้การกำจัดแมลงสาบมีประสิทธิภาพมากที่สุด
หากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยยา กรณีที่อาการเป็นไม่มาก ไม่รบกวนการทำงาน ชีวิตประจำวัน และคุณภาพชีวิต หรือเป็นระยะเวลาน้อยกว่า 4 สัปดาห์ สามารถใช้ยาต้านฮิสทามีนรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดไม่ง่วง (second-generation or non-sedating antihistamine) ในการรักษาได้ แต่ถ้าหากอาการเป็นมากจนรบกวน มีอาการเป็นระยะเวลามากกว่า 4 สัปดาห์ หรือรักษาด้วยยาต้านฮิสทามีนแล้วไม่ได้ผล แนะนำใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด เพราะเป็นการรักษา เพื่อลดอักเสบของจมูก จึงส่งผลให้สามารถลดอาการทางจมูกได้ดี และยังช่วยลดอาการอวัยวะข้างเคียง เช่น ตา หู ได้อีกด้วย
ยาอื่น ๆ ที่ใช้เสริม ได้แก่ ยาหดหลอดเลือดชนิดพ่น/หยอดหรือชนิดกิน ยา leukotriene receptor antagonists (LTRAs)
@@@@@@@
แหล่งข้อมูล
อาจารย์ แพทย์หญิงอภิญญา จึงเจริญพาณิชย์ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาและโรคข้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล