- เด็กในช่วง 2 ขวบปีแรก 90% สามารถติดเชื้อไวรัส RSV ได้ อย่างน้อย 1 ครั้ง และกว่า 50% ของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV ต้องนอนโรงพยาบาล บางรายมีอาการรุนแรงต้องเข้ารักษาใน ICU ใส่ท่อช่วยหายใจ
- ไวรัส RSV เป็นสาเหตุหลัก 1 ใน 3 ของการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อและหลอดลมอักเสบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อาจมีอาการรุนแรงมาก อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- ปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ได้โดยการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป โดยสามารถฉีดป้องกันได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึง 2 ปี ลดโอกาสในการติดเชื้อ 79.5% ลดการนอนโรงพยาบาลจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง 83.2% ลดความรุนแรงและการเข้าไอซียูได้ 75.3%
Respiratory Syncytial Virus : RSV คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เด็กๆ เป็นกันบ่อยมาก จากการศึกษาพบว่า 90% ของเด็กในช่วงอายุ 2 ขวบปีแรกสามารถติดเชื้อไวรัส RSV ได้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง และกว่า 50% ของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะแพทย์ต้องดูแลตามอาการที่เกิดอย่างใกล้ชิด และบางรายมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
เชื้อไวรัส RSV สามารถแพร่กระจายได้ง่ายและติดต่อเร็วมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ที่เกิดการระบาด และพบว่าไวรัส RSV เป็นสาเหตุหลักถึง 1 ใน 3 ของการเสียชีวิตที่เกิดจากปอดอักเสบและหลอดลมอักเสบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และอาการรุนแรงมาก เชื้อไวรัส RSV จะทําให้เกิดการอักเสบในหลอดลมขนาดเล็กที่อยู่ในปอด เกิดการสะสมของเสมหะ ทําให้หลอดลมเล็กๆ เหล่านี้ถูกอุดกั้น เกิดมีเสียงหวีดในปอด และอากาศไม่สามารถผ่านไปแลกเปลี่ยนก๊าซที่ถุงลมได้ ส่งผลให้เด็กได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือหากเนื้อเยื่อปอดติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรงก็จะทําให้เกิดโรคปอดอักเสบติดเชื้อได้
...
อาการเมื่อเด็กติดเชื้อไวรัส RSV
- ลักษณะเริ่มต้นจะเหมือนอาการหวัดทั่วไป มีนํ้ามูก ไอ อาจมีเสียงหวีดในปอดร่วมด้วย
- มีไข้
- รับประทานอาหารได้น้อยลง
- เล่นน้อยลง
- ร้องไห้กวน งอแง
- หายใจเว้นช่วง หยุดเป็นพักๆ

สัญญาณที่แสดงว่า การติดเชื้อไวรัส RSV มีอาการรุนแรง และอันตราย
- เด็กหายใจเร็วและถี่
- ไอหรือมีเสียงหวีดในปอดอยู่ตลอด
- รอบปากหรือเล็บเป็นสีเขียวคล้ำ
- จมูกบานหรืออกบุ๋มขณะหายใจ
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส (โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน)
หากพบอาการดังกล่าวให้รีบพาไปโรงพยาบาลทันที โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ยิ่งมีความเสี่ยงที่อาการจะรุนแรง เพราะสังเกตอาการได้ยากเนื่องจากเด็กยังเล็กสื่อสารไม่ชัดเจน ดังนั้นหากมีข้อสงสัยหรือสังเกตเห็นความผิดปกติตามที่กล่าวมาให้รีบพาไปตรวจที่โรงพยาบาลทันที เพื่อดูแลอาการและลดความรุนแรงของโรค
ปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรง ให้กับเด็กๆ ด้วยการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV เป็นการฉีดสารภูมิคุ้มกัน (Antibody) ต่อเชื้อไวรัส RSV ให้กับร่างกายเพื่อนำไปใช้ต้านทานเชื้อไวรัส RSV ได้ทันที มีความปลอดภัย
ประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันสําเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ในเด็ก
- ลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัส RSV ได้ถึง 79.5%
- ลดความเสี่ยงจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ได้ถึง 83.2%
- ลดความรุนแรงและลดโอกาสจากการรักษาตัวในไอซียูได้ 75.3%
- ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันการติดเชื้อไว้รัส RSV ได้ยาวนานถึง 5 เดือน ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส RSV
อายุเด็กที่สามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV ได้
ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV สามารถฉีดได้ในกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิด – 2 ปี (สามารถฉีดได้ในช่วงฤดูกาลระบาดเลย เพราะภูมิคุ้มกันขึ้นทันทีหลังฉีด) ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำให้ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV ดังนี้
ฤดูกาลแรก
- สามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV ในทารกแรกเกิด – 12 เดือน ที่แข็งแรงดีทุกราย
- แนะนำให้ฉีดทารก ที่อายุน้อยกว่า 8 เดือน และอาจพิจารณาฉีดในทารกอายุ 8-12 เดือน
- แนะนำในทารกกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อ RSV รุนแรง อายุตั้งแต่แรกเกิด ถึง 12 เดือน โดยทารกกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
1. โรคปอดเรื้อรังจากภาวะคลอดก่อนกำหนด (BPD) ที่ยังคงต้องรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ หรือมีการใช้ออกซิเจนในช่วง 6 เดือนก่อนเข้าสู่ฤดูกาลระบาด
2. เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง
3. เด็กที่เป็น โรค cystic fibrosis รุนแรง เช่น เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการกำเริบของโรคปอดในปีแรกของชีวิต หรือมีความผิดปกติของภาพถ่ายทรวงอก หรือมีภาวะทุพโภชนาการ (Weight-for-length < 10th percentile) เป็นต้น
4. เด็กที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดและยังคงได้รับการรักษาอยู่ (hemodynamically significant congenital heart disease)
...
หมายเหตุ :
- แนะนำให้ฉีดในระยะเข้าฤดูกาลระบาดของ RSV ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของทุกปี
- สำหรับทารกที่เกิดในช่วงฤดูกาลระบาดสามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV หลังคลอดได้ทันที
- ปริมาณในการฉีดที่แนะนำ :
ทารกน้ำหนัก < 5 กก ใช้ขนาด 50 มก. 1 เข็ม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ครั้งเดียว
ทารกน้ำหนัก > 5 กก. ใช้ขนาด 100 มก. 1 เข็ม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ครั้งเดียว

ฤดูกาลที่สอง
สามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV ในทารกแรกเกิดแข็งแรงดีทุกราย 12 – 24 เดือน
- แนะนำให้ฉีดในเด็ก 12 - 19 เดือน ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อ RSV รุนแรง
- และอาจพิจารณาในเด็ก 19-24 เดือน ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อ RSV รุนแรง
ปริมาณในการฉีดขนาดที่แนะนำ :
โดยฉีด ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV Nirsevimab ปริมาณ 200 มิลลิกรัม (ใช้แบบเข็มละ 100 มิลลิกรัม แบ่งฉีดกล้ามเนื้อ 2 ตำแหน่งในเวลาเดียวกัน)
หมายเหตุ : การให้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวและอายุของเด็ก โดยก่อนรับบริการต้องปรึกษากุมารแพทย์และให้แพทย์พิจารณาการให้ภูมิคุ้มกันทุกครั้ง
ข้อห้ามในการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป
ห้ามฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปในเด็กที่มีประวัติแพ้รุนแรงต่อ nirsevimab และส่วนประกอบ เช่น arginine, histidline
ประโยชน์จากการรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ในเด็ก ทั้งที่เคยติดเชื้อมาแล้ว หรือเคยรับภูมิคุ้มกันแล้ว
- แม้ว่าจะหายจากโรคแล้วก็อาจมีผลกระทบจากการติดเชื้อในระยะยาว ต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ภาวะหลอดลม ไว โรคหืด หรือการทํางานของปอดบกพร่อง ดังนั้นการป้องกันและการเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัส RSV จึงมีความสําคัญต่อสุขภาพของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งทางตรง เช่น ค่ารักษาพยาบาล และทางอ้อม เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการลาหยุดงานของพ่อแม่เพื่อมาดูแลลูก
- ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลสําหรับผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีที่ติดเชื้อไวรัส RSV ในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.75 พันล้านบาทต่อปี โดยระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาล เฉลี่ยนาน 6 วัน
หมายเหตุ :
- ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV มีความสำคัญสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันให้ทารกแรกเกิดในขวบปีแรก
- เด็กอายุตั้งแต่แรกเกิด – 2 ปี ที่มีโรคประจำตัว สามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV ได้
- ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV สามารถให้ร่วมกับวัคซีนตามวัยได้ และไม่ต้องมีการเว้นระยะห่างกับวัคซีนทุกชนิด รวมถึงวัคซีนชนิดเชื้อมีชีวิต เนื่องจากไม่รบกวนต่อการสร้างภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน
- การฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV สามารถฉีดร่วมกับวัคซีนอื่นๆ ได้ในครั้งเดียวกัน โดยฉีดคนละตำแหน่ง

...
แพทย์ผู้ชำนาญเฉพาะด้านโรคติดเชื้อ, โรคระบบการหายใจ และภูมิคุ้มกันในเด็ก
ขอบคุณข้อมูลจาก แพทย์หญิง วิริยาภรณ์ จันทร์รัชชกูล กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช อินเตอร์เนชั่นแนล