จากการที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าปีนี้มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็นผู้ป่วยสะสม 165,333 ราย เสียชีวิต 14 ราย โดยพบมากใน 6 จังหวัด คือ พะเยา ลำพูน เชียงราย ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ซึ่งสายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุดเป็นสายพันธุ์ A(H1N1) ทำให้หลายคนเริ่มระแวดระวังตัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีชุดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่มากขึ้นว่าเป็นโรคที่แฝงอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการดูแลและรักษาให้ถูกวิธี
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เกิดจากเชื้ออินฟลูเอนซาไวรัส ซึ่งมี 3 ชนิด คือ A, B และ C โดยสายพันธุ์ A เป็นสายพันธุ์ที่มีความอันตรายมากที่สุด เพราะสามารถกลายพันธุ์ได้ รวมทั้งยังแพร่ระบาดได้เป็นวงกว้าง ทำให้เชื้อมีความเป็นลูกผสม และมีฤทธิ์รุนแรง โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A มักจะแพร่ระบาดตามฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งสามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 2 สายพันธุ์ย่อยที่พบบ่อย คือ H1N1 และ H3N2
อาการไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
สำหรับอาการของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A จะมีอาการไม่ต่างจากไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดทั่วไป แต่มีความรุนแรงกว่า ประกอบไปด้วย
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาฯ ขึ้นไป
- มีอาการปวดศีรษะ
- หนาวสั่น อ่อนเพลีย
- มีน้ำมูกไหล คัดจมูก
- เจ็บคอ มีอาการไอ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตามร่างกาย แขน ขา ตามตัว
- ในเด็กเล็กมีอาการถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน และชักจากไข้สูง

...
อาการจะเป็นมากใน 3 วันแรก หลังจากนั้นอาการจะเริ่มดีขึ้น โดยหายสนิทอาจใช้เวลา 10-14 วัน แต่ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป อาจใช้เวลานานกว่านี้ ซึ่งมีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ คือ ปอดอักเสบ รวมถึงภาวะแทรกซ้อนระบบอื่นๆ สามารถนำไปสู่สาเหตุการเสียชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยงระวังภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A สำหรับคนทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรงดี จะไม่มีอาการร้ายแรงที่ส่งผลอันตรายถึงชีวิต แต่สำหรับกลุ่มเสี่ยงดังต่อไปนี้อาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่อันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน – 5 ปี
- ผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปี
- สตรีมีครรภ์
- ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
- ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัม
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคหอบหืด
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ป่วยโรคไต
- ผู้ป่วยโรคหลอดสมอง หรือลมชัก
- ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ หรือสเตียรอยด์จากโรคภูมิคุ้มกันตัวเอง
- ผู้ป่วยโรคตับแข็ง

ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ ซึ่งมักเกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยแต่ส่งผลอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และสมองอักเสบ
วิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
สำหรับวิธีป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ก็ไม่แตกต่างจากการป้องกันไข้หวัดทั่วไป หรือโควิด-19 นั่นคือ
- ไม่ควรใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
- ควรปิดปาก จมูก ด้วยหน้ากากอนามัย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยในการป้องกันความรุนแรง และอาการแทรกซ้อนของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ได้ก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แต่เนิ่นๆ สามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี ควรฉีดปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป
...
สำหรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในครั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กระจายวัคซีนไปยัง 6 จังหวัดเพิ่มขึ้นอีกจังหวัดละ 10,000 และสถานที่แออัดที่พบการระบาดสูง เช่น ค่ายทหาร เรือนจำ 30,000 โดส จัดหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 4.5 ล้านโดสเป็น 6 ล้านโดส