ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยโรคไตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยที่หลายคนไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังป่วย จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งต้องพึ่งพาการฟอกไตหรือรอรับการปลูกถ่ายไตเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป
นพ.พิชิต เบ็ญจสุพัฒนนันท์ อายุรแพทย์โรคไต รพ.เวชธานี อธิบายว่า โรคไตเกิดขึ้นเมื่อไตทำงานผิดปกติ กรองของเสียและน้ำออกจากร่างกายได้ไม่ดี ทำให้ของเสียสะสม นำไปสู่โรคร้ายแรง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และไตวาย
โรคไตวายแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ไตวายเฉียบพลัน
เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด เริ่มจากปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ปัสสาวะเลย มีอาการบวมที่ขาและเท้า เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง อ่อนเพลีย นอกจากนี้อาจมีอาการปวดหลังบริเวณชายโครง และหายใจถี่ร่วมด้วย ในกรณีที่อาการรุนแรง อาจชักหรือหมดสติ เข้าสู่ภาวะโคม่าแบบเฉียบพลัน

2. ไตวายเรื้อรัง
...
เป็นภาวะที่ไตทำงานลดลงมาเป็นระยะเวลาหลายปีซึ่งแบ่งเป็น 5 ระยะ ดังนี้
- ไตวายเรื้อรังระยะที่ 1 ไตยังทำงานได้ตามปกติ แต่พบความผิดปกติบางอย่างเช่น ตรวจพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือพบเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ
- ไตวายเรื้อรังระยะที่ 2 หรือโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นซึ่งไตจะทำงานได้ 60 – 90%
- ไตวายเรื้อรังระยะที่ 3 หรือโรคไตเรื้อรังระยะปานกลาง ไตจะทำงานได้ 30 – 60%
- ไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 หรือโรคไตเรื้อรังระยะรุนแรง ไตจะทำงานได้แค่ 15 – 30%
- ไตวายระยะสุดท้าย ไตทำงานได้น้อยกว่า 15% เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น น้ำหนักลด ปัสสาวะผิดปกติ โลหิตจาง ระบบประสาทผิดปกติ น้ำท่วมปอด อาจเสียชีวิตได้
สัญญาณเตือนโรคไต
ระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่เมื่อไตแย่ลง สังเกตสัญญาณเหล่านี้
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ปัสสาวะผิดปกติ เช่น บ่อยขึ้น น้อยลง มีฟอง หรือมีเลือดปน
- มีอาการบวมบริเวณขา เท้า หรือใบหน้า
- คันผิวหนัง
- ปวดหลังบริเวณไต
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร

ไตวายรักษาได้ไหม
การรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการคุมอาหารและกินยาเหมือนโรคไตเรื้อรังระยะอื่น ๆ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตร่วมด้วย ซึ่งมี 3 วิธี ได้แก่
1. ล้างไตทางช่องท้อง
คือการใช้สายยางฝังไว้ในช่องท้องแบบถาวรและใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง เพื่อฟอกของเสียในเลือดออก รวมถึงปรับสมดุลของน้ำ เกลือแร่ และสารเคมีต่าง ๆ โดยต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำยาทุกวัน วันละ 4 – 6 ครั้ง สามารถทำเองได้ที่บ้าน แต่ต้องทำอย่างถูกวิธีเพื่อลดโอกาสติดเชื้อในช่องท้อง
2. ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
คือการนำเลือดของผู้ป่วยออกจากร่างกายด้วยการแทงเข็มเข้าเส้นเลือดแล้วต่อกับท่อไปยังตัวกรองเพื่อให้เลือดสะอาดและปรับสมดุลแร่ธาตุต่างๆ เครื่องไตเทียมจะนำเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายตามเดิม โดยกระบวนการฟอกเลือดนี้จะใช้เวลาครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง โดยผู้ป่วยจะต้องมารับการฟอกเลือดที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง

...
3. ปลูกถ่ายไต
คือการผ่าตัดนำไตของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ มาทำหน้าที่แทนไตเดิมของผู้ป่วย โดยวางไตใหม่ไว้ในอุ้งเชิงกรานแล้วต่อเข้ากับกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดของผู้ป่วย ถ้าการผ่าตัดประสบความสำเร็จ ผู้ป่วยจะไม่ต้องบำบัดด้วยการฟอกไตอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิไปตลอดชีวิตเพื่อป้องกันร่างกายต่อต้านไตใหม่ หรือที่เรียกว่าภาวะสลัดไต โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะติดเชื้อและไม่มีโรคหัวใจรุนแรง
ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายแต่ละรายอาจใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เนื่องจากผู้ป่วยมักมีโรคอื่นร่วมด้วย จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและประเมินจากอายุรแพทย์โรคไต เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม
สำหรับการป้องกันโรคไตเรื้อรังสามารถทำได้โดย
- ควบคุมเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
- ลดเค็ม
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นเวลานาน
วิธีเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเสื่อมได้