จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 พบว่าผู้หญิงไทยมีอัตราการเจ็บป่วยสูงกว่าผู้ชาย โดยมีจำนวน 17 ล้านคน เทียบกับผู้ชายจำนวน 11 ล้านคน โดยภาวะโรคของสตรีที่พบในสัดส่วนสูง ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก และอาการป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับทารกในครรภ์และถุงน้ำคร่ำ
ขณะที่ในระดับโลก จากรายงาน Global Women's Healthcare Market โดย Research and Markets.com ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงทั่วโลกมีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสุขภาพเฉพาะด้านมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพการเจริญพันธุ์ สุขภาพมารดาและทารก สุขภาพเต้านม การจัดการภาวะวัยหมดประจำเดือน และสุขภาพทางเพศ ปัญหาสุขภาพเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย การจัดกิจกรรมให้ความรู้และรณรงค์อย่างต่อเนื่องจึงมีความสำคัญ เพื่อสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ

นายโยชิฮิโร ทาคาดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่าด้วยประสบการณ์ 40 ปีในฐานะผู้นำการผลิตยาครบวงจรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเข้าใจความท้าทายด้านสุขภาพที่ผู้หญิงต้องเผชิญ และเชื่อว่าการแก้ปัญหาสุขภาพผู้หญิงเริ่มจากการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง จึงจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ ‘การส่งเสริมสุขภาพผู้หญิง’ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องและเชื่อถือได้จากผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้หญิงตัดสินใจใช้ยาได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับเดินหน้าโครงการ Be with HER - Empowering Her Health Decisions เพื่อเสริมพลังการดูแลสุขภาพผู้หญิง ภายใต้แนวคิดหลัก 4 ประการ ได้แก่
...
- การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพ
- การส่งเสริมการดูแลตนเองเชิงป้องกัน
- การสนับสนุนการตัดสินใจด้านสุขภาพอย่างมั่นใจ
- การสร้างเครือข่ายสนับสนุน
โดยครอบคลุมกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการให้ความรู้ผ่านสื่อดิจิทัล การจัดกิจกรรมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และการสร้างชุมชนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสุขภาพ โดยร่วมมือกับพันธมิตรด้านสุขภาพผู้หญิง เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงทุกวัยสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสฤกพรรณ วิไลลักษณ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการมะเร็งในสตรีของสมาพันธ์สูตินรีเวชนานาชาติ เผยว่าปัญหาสุขภาพของผู้หญิงไทยมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับแนวโน้มทั่วโลก แต่ก็มีปัจจัยเฉพาะที่ทำให้แตกต่างออกไป เช่น โรคที่พบบ่อยในผู้หญิงไทยอย่างมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม รวมถึงภาวะอ้วนและโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้าในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานและผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับภาระหน้าที่ในครอบครัวและสังคม

สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีปัญหาเหล่านี้คือเรื่องความรู้ความเข้าใจ ความเชื่อผิดๆ การเข้าถึงการรักษา การป้องกันด้วยการตรวจสุขภาพที่ยังไม่มากพอ โดยความเชื่อที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับสุขภาพผู้หญิง ได้แก่
- เด็กผู้หญิงที่ยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จะไม่เป็นโรคเกี่ยวกับสูตินรีเวช แต่ความจริงแล้วเป็นได้ทุกวัย
- บางรายมีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง แต่คิดว่าเป็นเรื่องปกติเลยไม่ไปตรวจ
- หลายคนคิดว่าการมีประจำเดือนจำนวนมากเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้วอาจแสดงถึงอาการของโรคบางอย่าง เช่น เนื้องอก มะเร็ง เป็นต้น
- หลายคนเชื่อว่ากินยาคุมกำเนิดทำให้มีลูกยาก แต่ความจริงแล้วหยุดกินยาเพียง 1-3 เดือนก็สามารถมีลูกได้ตามธรรมชาติ
- หลายคนเชื่อว่าการคุมกำเนิดด้วยการหลั่งข้างนอกคือวิธีที่ดีที่สุด แต่ความจริงแล้วเป็นวิธีที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์มากที่สุด
- บางคนเชื่อว่าคนท้องต้องกินเยอะๆ จะได้เผื่อลูกในท้อง แต่ความจริงคือควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ในระดับที่ไม่มากจนเกินไป และควรระวังโรคเบาหวานในคนท้อง
- หลายคนเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่วัยทองแล้วไม่จำเป็นต้องไปตรวจสุขภาพ แต่ความจริงเป็นช่วงวัยที่ควรตรวจอย่างยิ่ง
- มักเชื่อกันว่าไม่มีอาการแปลว่าไม่ป่วย แต่ความจริงแล้วมะเร็งปากมดลูกไม่แสดงอาการจนกว่าจะเป็นหนักแล้ว
“ต้องมีการดูแลและให้ความสำคัญเพื่อให้ผู้หญิงไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ขจัดความเข้าใจผิด และการกระตุ้นให้ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้” ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสฤกพรรณ กล่าว
ขณะที่ทางสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) โดย อาจารย์เภสัชกรกฤติน บัณฑิตานุกูล อุปนายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชนคนที่ 2 ภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าถึงปัญหาและความท้าทายในการให้ข้อมูลด้านสุขภาพ จากมุมของเภสัชกรว่า
...

“ผู้หญิงวัย 30-50 ปี มักเผชิญปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนหรือโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือปัญหาทางเดินปัสสาวะ แต่ส่วนใหญ่ยังเข้าปรึกษาเภสัชกรค่อนข้างน้อย การปรึกษามักเกี่ยวกับการเลือกใช้ยาคุมกำเนิด การรักษาปัญหาประจำเดือน หรือการดูแลกระดูกและข้อในช่วงวัยหมดประจำเดือน”
ดังนั้น เภสัชกรจึงมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาคุมกำเนิดโดยคำนึงถึงความปลอดภัยในระยะยาว เช่น การเลือกยาคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมนธรรมชาติ ซึ่งมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การให้คำแนะนำที่เหมาะสมตามช่วงวัยและไลฟ์สไตล์ของผู้หญิง เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือการดูแลสุขภาพกระดูก ยังเป็นส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพโดยรวม เภสัชกรควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและไว้วางใจได้ เพื่อให้ผู้หญิงกล้าเปิดเผยปัญหาสุขภาพและมั่นใจในการติดตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์ กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน และสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ได้แนะแนวทางการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสม และชี้ให้เห็นถึงข้อมูลสุขภาพบางอย่างในโลกดิจิทัลที่อาจทำให้ผู้หญิงเข้าใจผิดได้ โดยกล่าวว่า
...

“ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลสุขภาพผู้หญิงถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย การเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือขาดงานวิจัย ซึ่งอาจกระทบการตัดสินใจในการรักษา การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องจึงสำคัญ โดยใช้ช่องทางหลายรูปแบบ เช่น สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย วิทยุ และโทรทัศน์ ข้อมูลควรนำเสนอในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย รวมถึงการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่น และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น”