ชีวิตในวัยเรียนเป็นช่วงเวลาที่มีทั้งความสนุก ความเศร้า ความเครียดจากการเรียน จึงทำให้เด็กบางคนอาจหมดแพสชันในการเรียน และอาจทำให้เด็กกลุ่มนี้เป็นภาวะหมดไฟในการเรียน (Academic Burnout) โดยไม่รู้ตัว

แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์โรงพยาบาล BMHH- Bangkok Mental Health Hospital กล่าวว่า ภาวะหมดไฟในการเรียน (Academic Burnout) คือภาวะที่นักเรียน นักศึกษา เผชิญกับความเครียดและความกดดันจากการเรียน การสอบ เป็นระยะเวลานาน จนเกิดความรู้สึกเบื่อ ไม่มีสมาธิเรียน ไม่อยากอ่านหนังสือ และไม่อยากไปโรงเรียน ทำให้ส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนและสุขภาพร่างกาย ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดภาวะเครียดเรื้อรัง อารมณ์หม่นหมอง หรือเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟในการเรียน

  • ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ
  • ต่อต้านการเรียน
  • อ่านหนังสือแล้วจำไม่ได้
  • ไม่อยากจะยุ่งกับใคร
  • วิตกกังวล
  • ขี้หงุดหงิด
  • อยากอยู่คนเดียว
  • นอนไม่หลับ

...

สาเหตุภาวะหมดไฟในการเรียน

ภาวะหมดไฟในการเรียน เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น มีปริมาณการบ้านหรือเนื้อหาที่ต้องเรียนมากเกินไป, สั่งงานในเวลากระชั้นชิด, เกิดความกดดัน ความคาดหวังสูง, ความยากของเนื้อหาในการเรียน, ต้องเรียนในวิชาที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด และมีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้น หรือคุณครู อาจารย์

ภาพจาก iStock
ภาพจาก iStock

วิธีป้องกันภาวะหมดไฟในการเรียน

การป้องกันภาวะหมดไฟในการเรียน อาจจะเริ่มต้นด้วยการคุยกับเพื่อนเวลารู้สึกเครียดกับเรื่องการเรียนเพื่อสร้างความผ่อนคลาย จัดสัดส่วนเวลาเรียนกับการพักผ่อนให้ชัดเจน เพื่อช่วยลดความเครียด จัดสภาพแวดล้อมบนโต๊ะเรียนให้เหมาะสมน่าเรียน และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้หลั่ง Growth Hormone ในการซ่อมแซมร่างกายตัวเอง และจะได้ตื่นมากระปรี้กระเปร่าต้อนรับเช้าวันใหม่

อย่างไรก็ตาม ภาวะหมดไฟในการเรียนอาจดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่ถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ หากสังเกตอาการตัวเองและคนรอบข้างได้เร็ว ก็สามารถปรับเปลี่ยนมุมมองต่อตัวเองและการเรียนได้ทัน แต่ถ้าหากอาการไม่ดีขึ้นควรเข้ามาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการและเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม