โรคลำไส้แปรปรวน หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูสักเท่าไร แต่บางคนอาจมีอาการของโรคนี้อยู่แบบไม่รู้ตัว บางรายมีอาการท้องผูก บางรายก็ท้องเสีย หากมีอาการรุนแรงก็จะกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันมากพอสมควร ดังนั้นจึงควรสังเกตอาการตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคลำไส้แปรปรวนได้
โรคลำไส้แปรปรวน เกิดจากอะไร
ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่าโรคลำไส้แปรปรวน มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Irritable Bowel Syndrome (IBS) เป็นโรคของลำไส้ที่ทำงานผิดปกติไป ทำให้เกิดการปวดท้องร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก โดยที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพที่ลำไส้ เช่น ส่องกล้องตรวจลำไส้จะไม่มีอาการอักเสบ ไม่มีแผล ไม่มีเนื้องอก หรือมะเร็ง รวมทั้งไม่มีโรคของอวัยวะอื่นๆ ที่จะมีผลให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ เช่นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคเบาหวานเป็นต้น
โรคลำไส้แปรปรวนจะเป็นโรคเรื้อรังอาจมีอาการเป็นปีๆ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต เป็นโรคที่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม แม้จะเป็นมาหลายๆ ปี และไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญ และความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยอย่างมากได้ เนื่องจากผู้ป่วยจะวิตกกังวลมากว่าทำไม่โรคไม่หายแม้ได้ยารักษา ในบางรายอาการท้องเสียบ่อยจะรบกวนการทำงานอย่างมาก ทำให้ไม่อยากออกไปทำธุระหรือเดินทางนอกบ้านหรือนอกที่ทำงาน

...
ปัจจุบันโรคลำไส้แปรปรวนยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน จึงยังไม่มียารักษาเฉพาะโรคนี้ที่จะกำจัดสาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนได้ ทำให้มีอาการเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ
อาการโรคลำไส้แปรปรวน
- ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนมักจะมีอาการดังต่อไปนี้
- ท้องผูก อุจจาระแข็ง ถ่ายอุจจาระห่างกว่าปกติ หรือท้องเสีย อุจจาระเหลว ถ่ายบ่อยมากกว่าปกติ
- ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด มีลมมากในท้อง
- โดยอาการปวดแน่นท้องเหล่านี้สัมพันธ์กับการขับถ่าย เช่น ถ่ายแล้วมักจะมีอาการดีขึ้น
ความแตกต่างของโรคลำไส้แปรปรวนกับโรคทางเดินอาหารอื่นๆ ที่มีอาการใกล้เคียงกัน
อาการเด่นของโรคลำไส้แปรปรวนคือ “ปวดท้อง” ที่สัมพันธ์กับการขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ (ท้องผูก, ท้องเสีย) โดยอาการปวดท้องมักจะดีขึ้นเมื่อได้ขับถ่าย หรือในบางรายอาการปวดท้องอาจจะไม่ดีขึ้นแต่ก็ยังสามารถเป็นโรคนี้ได้
- หากเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง มักไม่มีอาการปวดท้อง
- โรคท้องเสียเรื้อรังก็เช่นกัน มักไม่มีอาการปวดท้อง
- หากเป็นโรคกระเพาะอาหารจะปวดท้องส่วนบน แต่ลำไส้แปรปรวนจะปวดกลางท้องหรือปวดท้องส่วนล่าง
- แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโรคลำไส้แปรปรวนและโรคอื่นของระบบทางเดินอาหาร สามารถพบร่วมกันได้
ปัจจัยที่ทำให้อาการลำไส้แปรปรวนกำเริบ
อาหารบางชนิด อาจมีผลกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวผิดปกติ

- นม ผลิตภัณฑ์นม
- แป้งสาลี
- กระเทียม
- อาหารและผลไม้รสหวาน เช่น น้ำหวาน น้ำผึ้ง แตงโม
- ความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้ร่างกายรับความรู้สึกจากลำไส้ไวเกินกว่าปกติ
วิธีรักษาโรคลำไส้แปรปรวน
- ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการ
- รับประทานที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน
- ดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อให้การขับถ่ายเป็นปกติ
- ผ่อนคลายความเครียด ความกังวล ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวัง
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนก็ไม่ควรชะล่าใจกับอาการที่เกิดขึ้น หากพบอาการหรือมีประวัติต่อไปนี้แนะนำว่าควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและหาทางรักษาก่อนเป็นโรคร้ายแรง
- มีอาการรุนแรงที่รบกวนชีวิตประจำวัน
- เริ่มมีอาการของลำไส้แปรปรวนเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป
- ถ่ายเป็นเลือด หรือโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก
- น้ำหนักลด (ลดลงมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10 ใน 3 เดือน)
- มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง
- มีประวัติโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง
แม้ว่าโรคลำไส้แปรปรวน ไม่ใช่โรคมะเร็งและจะไม่กลายเป็นมะเร็งแม้จะมีประวัติเป็นๆ หายๆ มานาน แต่กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังคือ ผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือเพิ่งมามีอาการท้องเสียหรือท้องผูก หลังอายุ 40-50 ปี อาจมีโอกาสที่จะมีสาเหตุจากโรคมะเร็งลำไส้ได้สูงขึ้น (คือมีโรคมะเร็งลำไส้มาเกิดร่วมกับโรคลำไส้แปรปรวน) ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจและสืบค้นโดยแพทย์ให้รู้สาเหตุที่แน่นอน
ข้อมูลอ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
...
ภาพ : iStock