“อาหาร” เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต รวมทั้งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กมีการเจริญเติบโต แข็งแรงตามวัย เด็กจำเป็นจะต้องได้รับสารอาหารและพลังงานที่เหมาะสมตามความต้องการของร่างกาย โดยได้รับจากอาหารที่มีลักษณะแตกต่างกันตามแต่ละช่วงอายุของเด็ก ดังนี้
อายุ 0-6 เดือน ร่างกายของทารกยังรับได้เฉพาะอาหารเหลว อาหารหลักที่สำคัญในช่วงอายุนี้ ก็คือ นมแม่ เพราะมีสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน รวมทั้งมีสารประกอบต่างๆ ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานที่ดีและส่งเสริมพัฒนาการของสมองให้กับทารกในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้อย่างเต็มที่ จำเป็นต้องใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกในการเลี้ยงทารกเท่านั้น หากใช้นมชนิดอื่น อาจทำให้ทารกขาดสารอาหารและเป็นอันตรายได้
อายุ 6-12 เดือน เป็นวัยที่ทารกสามารถรับอาหารอื่น นอกเหนือจากนมแม่ได้ อาหารที่ให้ทารกในช่วงวัยนี้ เรียกว่า “อาหารตามวัยสำหรับทารก” ในวัยนี้ ทารกมีน้ำย่อยที่สามารถย่อยอาหารได้หลากหลายชนิดมากขึ้น มีพัฒนาการของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคี้ยวอาหาร ทารกสามารถประคองตัวในท่านั่งได้ คอแข็งตั้งตรง ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะกับการกินอาหาร
ในวัยนี้ พลังงานและสารอาหารจากนมแม่เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อความต้องการของทารกที่เติบโตขึ้น ทารกจึงจำเป็นต้องได้รับอาหารตามวัยสำหรับทารก นอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานและสารอาหารเพิ่มเติมจากนมแม่แล้ว อาหารตามวัยสำหรับทารกยังเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกพัฒนาการการกินอาหารของทารก จากการกินอาหารเหลว อาหารกึ่งแข็งกึ่งเหลว พัฒนาไปสู่อาหารที่ใกล้เคียงกับอาหารผู้ใหญ่เมื่ออายุ 1 ขวบ
...
อาหารตามวัยสำหรับทารกในช่วง 6-12 เดือน ประกอบด้วยอาหารหลัก 5 หมู่ ได้แก่ หมู่ข้าว/แป้ง เนื้อสัตว์/ไข่ ผัก ผลไม้ และน้ำมัน การให้อาหารทารกในช่วงแรกๆ ควรทำอาหารบดหรือปั่นละเอียด เมื่อทารกเริ่มคุ้นเคยและกินอาหารบดละเอียดได้ควรเพิ่มความหยาบของอาหาร โดยลดการปั่นหรือบด ปรับวิธีการทำอาหารสับละเอียดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อฝึกให้ทารกมีพัฒนาการในการกินอาหาร โดยมีเป้าหมายว่าเมื่ออายุ 12 เดือน ทารกจะกินอาหารที่มีเนื้อสัมผัสใกล้เคียงกับอาหารของผู้ใหญ่
ในช่วงวัยนี้ ทารกจะกินอาหารตามวัยมากขึ้น ทั้งปริมาณอาหารและจำนวนมื้ออาหาร ปริมาณอาหารในแต่ละมื้อจะเพิ่มขึ้นตามอายุและการเติบโต ส่วนจำนวนมื้ออาหาร จะมีการเพิ่มมื้ออาหารตามวัย ไปพร้อมๆ กับการลดจำนวนมื้อนม เพื่อให้ทารกกินอาหารตามวัยมากขึ้นตามอายุและการเติบโตของร่างกาย คำแนะนำจำนวนมื้อของอาหารตามวัย มีดังนี้
● อายุ 6 เดือน กินอาหารตามวัย 1 มื้อ/วัน
● อายุ 8 เดือน กินอาหารตามวัย 2 มื้อ/วัน
● อายุ 9 เดือน กินอาหารตามวัย 3 มื้อ/วัน
อายุ 1 ขวบขึ้นไป หลังอายุ 1 ขวบ จะมีการปรับเปลี่ยนลักษณะอาหารจากการกินนมเป็นอาหารหลักในขวบปีแรก เป็นการกินอาหารเป็นหลัก เด็กควรได้รับอาหารหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อต่อวัน โดยจัดให้มื้ออาหารว่างอยู่ระหว่างมื้ออาหาร อาหารว่างสำหรับเด็กในวัยนี้ มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเสริมพลังงานและสารอาหารเพิ่มเติมจากอาหารมื้อหลัก เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถกินอาหารแต่ละมื้อได้ในปริมาณมาก
อาหารหลัก 3 มื้อ ประกอบด้วยอาหารหลัก 5 หมู่ และมีความหลากหลาย ประกอบด้วยข้าว เนื้อสัตว์ ผัก และประกอบอาหารด้วยน้ำมันในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการปรุงรสหวานจัด เค็มจัด เพื่อส่งเสริมให้เด็กกินอาหารรสธรรมชาติ ไม่ติดรสชาติมากเกินไป ควรส่งเสริมให้กินผักผลไม้ตามความเหมาะสม
อาหารว่าง ควรเลือกอาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น นม ผลไม้ ขนมปัง ธัญพืช เป็นต้น เด็กในวัยนี้ควรกินนม 2-3 กล่องวัน เพื่อให้ได้รับพลังงาน โปรตีนและแคลเซียมที่เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงอาหารว่างที่มีไขมันในปริมาณสูง หรืออาหารว่างที่หวานมากเกินไป หลีกเลี่ยงการกินขนมหวาน น้ำหวาน เป็นประจำ
แบบแผนมื้ออาหารในเด็ก จะคงเหมือนเดิมจนเด็กเติบโตขึ้น ในวัยเด็กโตและวัยรุ่น ยังคงควรกินอาหารให้ครบ 3 มื้อ แต่อาจเว้นอาหารว่างได้หากมีการเจริญเติบโตที่ดีและกินอาหารอย่างเพียงพอเหมาะสม อย่างไรก็ตาม เด็กทุกวัยยังควรได้รับนม 2-3 แก้วต่อวันเพื่อเป็นแหล่งของแคลเซียมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
หลักการเตรียมอาหาร
การเตรียมอาหารให้เด็ก ควรคำนึงถึงปริมาณและคุณภาพที่เหมาะสมตามวัยของเด็ก รวมถึงมีความหลากหลายของชนิดอาหาร เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ชนิดของอาหาร ทั้งรสชาติและเนื้อสัมผัสต่างกัน ซึ่งจะทำให้เด็กได้เรียนรู้และมีพัฒนาการด้านการกินอาหารที่ดีขึ้น
...
บริเวณที่ใช้ในการเตรียมอาหารต้องมีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ วัตถุดิบควรมีความสะอาดและมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ควรปรุงอาหารให้สุก สำหรับการเตรียมอาหารให้ทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี อาจพิจารณาแยกภาชนะที่ใช้จากการเตรียมอาหารอื่นในครัวเรือนเพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อนต่างๆ
การใช้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป/กึ่งสำเร็จรูปควรอ่านข้อมูลบนฉลากโภชนาการ ตรวจสอบวันหมดอายุ และสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่าไม่มีการรั่ว ฉีกขาด หรือมีสิ่งที่บ่งบอกว่าอาหารอาจมีการปนเปื้อนได้
เคล็ดลับให้ลูกกินอาหารได้ดี
ในวัยเด็กเล็ก อายุ 1-3 ขวบเป็นช่วงที่หลายครอบครัวประสบปัญหาพฤติกรรมการกินอาหารของลูก เช่น กินยาก เลือกกิน ไม่สนใจอาหาร เป็นต้น หากครอบครัวส่งเสริมพัฒนาการด้านการกินอาหารอย่างถูกต้อง จะทำให้เด็กกินอาหารได้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้เด็กได้รับอาหารอย่างเพียงพอ และส่งเสริมให้มีสุขลักษณะนิสัยการกินที่ดีต่อไปในอนาคต
การส่งเสริมพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีสำหรับเด็กวัยนี้ ควรฝึกให้เด็กกินอาหารเป็นมื้อ นั่งกินให้เป็นที่ เปิดโอกาสให้เด็กกินด้วยตัวเองตามพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย ซึ่งอาจจะทำให้หกเลอะเทอะบ้าง แต่เป็นการเรียนรู้ของเด็กเพื่อให้มีทักษะการกินอาหารที่ก้าวหน้าขึ้น และหากมีโอกาสได้กินอาหารพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวด้วยจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการกินอาหารของเด็กให้ดียิ่งขึ้น
...
การกินอาหารในแต่ละมื้อ ควรควบคุมเวลาไม่ให้เกิน 30-45 นาที เพราะหากใช้เวลานานกว่านี้ เด็กจะเริ่มเบื่อและไม่สนใจอาหาร รวมทั้งจะลดเวลาในการเล่นหรือส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็ก ควรทำให้บรรยากาศในมื้ออาหารเป็นเวลาแห่งความสุข ชื่นชมเมื่อเด็กทำได้ดี แต่เพิกเฉยกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะเบี่ยงเบนความสนใจเด็กจากการกินอาหาร เช่น ของเล่น การดูหน้าจอต่างๆ เป็นต้น เด็กอายุประมาณ 2-3 ขวบขึ้นไป อาจพิจารณาให้เด็กมีบทบาทในการเตรียมอาหารด้วยกัน เช่น ล้างผัก หรืออะไรง่ายๆ ที่เขาทำได้ และปลอดภัย จะทำให้เขาสนุกสนานกับการเตรียมอาหาร ซึ่งจะทำให้เขากินอาหารได้ดีขึ้นด้วย
หากเด็กมีปัญหาเรื่องการกินอาหาร จนกระทบกับการเจริญเติบโตของร่างกายไม่สมวัย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินภาวะโภชนาการและการได้รับสารอาหารอย่างละเอียด และพิจารณาให้การตรวจเพิ่มเติมและการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
ช่วงอายุ 0-5 ขวบ นับเป็นช่วงเวลาที่เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่รวดเร็วมาก การได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจึงมีความสำคัญมากในวัยนี้ เนื่องจากมีสารอาหารหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของระบบประสาท การขาดสารอาหาร จะทำให้เขาเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ หรืออาจจะมีพัฒนาการที่หยุดชะงัก ซึ่งจะปิดโอกาสการเรียนรู้ และส่งผลต่อไปในระยะยาว ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง จึงควรให้ความสำคัญและดูแลเรื่องอาหารให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน และครบทุกมื้อ เพื่อให้เขาเจริญเติบโต สมวัย และมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงต่อไป
------------------------------------------------
แหล่งข้อมูล
ผศ.ดร.พญ.อรพร ดำรงวงศ์ศิริ หัวหน้าสาขาวิชาโภชนาวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
...