- ในกรณีที่นักกอล์ฟอยู่กลางแดดนานๆ และเริ่มมีสัญญาณของภาวะอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อน ไม่ว่าจะเป็นอาการตะคริว เหงื่อออกมากผิดปกติ ปวด วิงเวียน หรือ มึนศีรษะ อ่อนเพลียไม่มีแรง จะต้องมีวิธีการรับมือที่ถูกต้อง แต่หากปล่อยไว้และยังฝืนเล่นกอล์ฟต่อ ก็อาจจะนำไปสู่การเป็นลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (Heat stroke) ซึ่งสามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- เครื่องดื่มสำหรับนักกอล์ฟเวลาไปออกรอบ ควรเป็นน้ำเปล่า หรือ เครื่องดื่มเกลือแร่ ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เนื่องจากจะยิ่งกระตุ้นให้ร่างกายขับของเหลวออกมายิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางปัสสาวะ
ในช่วงฤดูร้อนบ้านเราที่มีอุณหภูมิสูงได้ถึง 40 องศาฯ นับเป็นอุปสรรคและภาวะความเสี่ยงสำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับนักกีฬาและผู้ที่ชื่นชอบการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกับกีฬาประเภทที่เล่นหรือแข่งขันกลางแจ้ง ซึ่งกอล์ฟก็เป็นกีฬาที่ผู้เล่นจะต้องอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 4-5 ชั่วโมง ซึ่งหากไม่มีการเตรียมตัวและรับมืออย่างถูกต้อง ก็จะส่งผลต่อความสามารถในการเล่นกีฬา และอาจร้ายแรงกระทั่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
เหตุผลที่ทำให้นักกอล์ฟเสี่ยงเป็นลมแดด หรือ ฮีตสโตรก
ทั้งนี้ เพราะมนุษย์เราจะสามารถทำงานต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพได้ จะต้องอยู่ในภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายอยู่ในช่วงระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งโดยปกติอุณหภูมิร่างกายของเราจะอยู่ในช่วง 36.1-37.2 องศาฯ และอาจจะสูงได้ถึงราว 40 องศาฯ ในขณะที่มีกิจกรรมทางกายในระดับที่หนัก
และถึงแม้ว่าร่างกายของมนุษย์เราจะมีระบบรักษาระดับอุณหภูมิโดยธรรมชาติด้วยการหลั่งเหงื่อออกมา แต่เนื่องจากระดับน้ำในร่างกายของเรานั้นก็มีอยู่จำกัด เมื่อเหงื่อออกมากๆ จนเกิดภาวะขาดน้ำ (dehydration) ก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถรับมือกับสภาวะอากาศร้อนมากๆ โดยเฉพาะกับภูมิอากาศร้อนชื้นอย่างเช่นในประเทศไทยเรา
...
นำไปสู่อาการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน เช่น ตะคริวจากความร้อน (heat cramp) อาการเพลียแดด (heat exhaustion) จนไปถึงการเป็นลมแดด (heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 40.5 องศาฯ จนก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบประสาท ไต และหัวใจ นำไปสู่การเสียชีวิต
วิธีป้องกันฮีตสโตรก สำหรับนักกอล์ฟที่อยู่กลางแดดนานๆ
สำหรับนักกอล์ฟที่เล่นอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นระยะเวลานานๆ จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวและรับมือกับสภาพอากาศที่ร้อนระอุอย่างถูกต้อง โดยเริ่มจากการพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากเมื่ออดนอนนั้น จะทำให้ร่างกายมีภาวะขาดน้ำตั้งแต่แรกอยู่แล้ว จากนั้นในช่วงก่อนเล่นกอล์ฟ ก็ควรจะดื่มน้ำอยู่เรื่อยๆ เพื่อรักษาระดับน้ำภายในร่างกาย โดยควรจะแบ่งดื่มตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ตามข้อแนะนำในการดื่มน้ำของแต่ละบุคคลในแต่ละวัน คือประมาณ 35 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ตัวอย่างการดื่มน้ำของนักกอล์ฟ
เช่น นักกอล์ฟที่มีน้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม ก็ควรที่จะดื่มน้ำประมาณ 70 x 35 = 2,450 มิลลิลิตร หรือราวๆ 2 ลิตรครึ่ง โดยควรจะแบ่งดื่มไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน และในกรณีที่ออกรอบช่วงบ่าย ก็ควรจะค่อยๆ ดื่มน้ำในช่วงเช้าให้ได้ครึ่งหนึ่งของปริมาณที่แนะนำ
เครื่องดื่มสำหรับนักกอล์ฟ เมื่อไปออกรอบ
1. น้ำเปล่า
ที่สำคัญมากๆ คือการรักษาระดับน้ำในร่างกาย อันจะเป็นตัวช่วยในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายในขณะออกรอบ ซึ่งปริมาณน้ำที่ควรดื่มเพิ่มเติมในขณะออกรอบเล่นกอล์ฟในสภาพอากาศปกติ จะอยู่ที่ราว 2/3 ของปริมาณที่ควรดื่มในแต่ละวัน ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้น นักกอล์ฟที่น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม ก็ควรจะดื่มน้ำในตลอดช่วงออกรอบเล่นกอล์ฟที่ประมาณ 2.45 x 2/3 = 1.63 ลิตร ซึ่งก็ควรที่จะค่อยๆ แบ่งดื่มไปตลอดการเล่นในทุกๆ หลุม
2. เครื่องดื่มเกลือแร่
อย่างไรก็ตาม สำหรับสภาพอากาศที่ร้อนมากๆ ที่ร่างกายจะมีอัตราการสูญเสียเหงื่อมากกว่าปกติ ก็สามารถที่จะดื่มเพิ่มจากปริมาณดังกล่าวเพิ่มขึ้น 20-30% หรืออีกประมาณ 500 มิลลิลิตร ทั้งนี้ ส่วนที่เพิ่มมา 500 มิลลิลิตรนี้ หากสามารถดื่มในรูปแบบของเครื่องดื่มผสมเกลือแร่ได้ ก็จะยิ่งเป็นการดี เพราะในขณะที่ร่างกายสูญเสียเหงื่อ ร่างกายเราไม่ได้เสียไปแต่น้ำ แต่ยังเสียเกลือแร่ที่อยู่ในเหงื่อไปด้วยพร้อมๆ กันนั่นเอง
3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
ไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือพวกชา กาแฟ เนื่องจากจะยิ่งกระตุ้นให้ร่างกายทำการขับของเหลวออกมายิ่งขึ้น โดยเฉพาะทางปัสสาวะ ปริมาณของน้ำที่จะต้องดื่มเพิ่ม ก็จะต้องปรับเปลี่ยนไปจากสูตรคำนวณข้างต้น
นอกจากนี้ นักกอล์ฟยังควรเข้าไปหลบในที่ร่มบ้าง กางร่ม และสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายความร้อนได้ดี และไม่รัดแน่นจนอึดอัดเกินไป
อาการที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อนักกอล์ฟต้องอยู่กลางแดดนานๆ
ในกรณีที่นักกอล์ฟเริ่มมีสัญญาณของภาวะอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อน ไม่ว่าจะเป็น
- อาการตะคริว
- เหงื่อออกมากผิดปกติ
- ปวด วิงเวียนหรือมึนศีรษะ
- อ่อนเพลียไม่มีแรง
ก็จะต้องมีวิธีการรับมือที่ถูกต้อง กล่าวคือจะต้องทำการลดอุณหภูมิของร่างกาย โดยการเข้าที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่น ดื่มน้ำ เช็ดตัวด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำ หรือหากมีน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ก็อาจจะใช้เช็ดและประคบตามจุดที่มีชีพจร เช่น ใต้รักแร้ ซอกคอ โคนขาหนีบ เป็นต้น
ซึ่งหากรับมืออย่างถูกวิธี อาการตะคริวหรือเพลียแดดจะสามารถหายไปได้เองภายในเวลาประมาณ 30 นาที แต่หากปล่อยไว้และยังฝืนเล่นกอล์ฟต่อ ก็อาจจะนำไปสู่การเป็นลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (heat stroke) ซึ่งสามารถเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
...
หากนักกอล์ฟเตรียมตัวรับมือกับภาวะอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับการรักษาระดับน้ำและอุณหภูมิของร่างกายได้ตามคำแนะนำข้างต้นแล้วนั้น ก็เชื่อว่าจะช่วยลดโอกาสการเกิดอาการป่วยอันเนื่องมาจากความร้อนได้ และสามารถที่จะเล่นกอล์ฟได้อย่างสนุกสนาน เต็มศักยภาพ และปลอดภัย แม้ในสภาวะอากาศท่ามกลางฤดูร้อนได้.
บทความโดย : ผศ.ดร.เบญจพล เบญจพลากร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพและการออกกำลังกายของ Sport & Orthopedic Center โรงพยาบาลสมิติเวช