สัปดาห์ที่แล้ว ศุกร์สุขภาพ พาไปรู้จัก “ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ” ภาวะอันตรายที่ควรรู้จัก (ตอน 1) แต่วันนี้ยังมีเรื่องราวน่ารู้ของการวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือดอุดตัน มาฝากกันเพิ่มเติม
การวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือดอุดตัน
การวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือดในระยะเริ่มแรก เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก และมีความซับซ้อน เนื่องจากผู้ป่วยอาจจะยังไม่แสดงอาการ หรือเป็นอาการที่ไม่มีเฉพาะชัดเจน เช่น อาการปวดขา หรือขาบวม อาการเจ็บหน้าอก หรือหายใจลำบาก ซึ่งอาจจะไม่ได้เกิดจากภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำ การรักษาที่ผิดพลาดหรือช้าเกินไปจะเพิ่มอัตราการเกิดภาวะทางพยาธิและอันตรายในผู้ป่วยที่มีภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือดดำได้อย่างชัดเจน
การตรวจหาภาวะหลอดเลือดดำลึกมีลิ่มเลือด แพทย์จะอาศัยการซักประวัติเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงและอาการ ร่วมกับการตรวจร่างกาย ได้แก่ การบวม อาการเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือด หากมีอาการและอาการแสดงมีปัจจัยเสี่ยง รวมถึงผลการตรวจร่างกาย ซึ่งอาจจะมีการเกิดภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือด
แพทย์จะแนะนำให้ท่านได้รับการตรวจเพิ่มเติม ได้แก่ การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง การตรวจเลือดเพื่อดูระดับ D-dimer การตรวจภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือการถ่ายภาพรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อยืนยันภาวะหลอดเลือดดำลึกมีลิ่มเลือดและตำแหน่งที่เกิด
...
การส่งตรวจผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือด
การวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือดอย่างถูกต้อง จะลดความเสี่ยงของผู้ป่วยจากภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเกิดจากการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หรือการหลุดของลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดภายในปอด และทำให้ผู้ป่วยที่ไม่ได้มีภาวะนี้ไม่ต้องเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด การตรวจวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือดนั้นต้องใช้การซักประวัติร่วมกับการตรวจด้วยวิธีต่างๆ การพบภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือดในระยะเริ่มแรกด้วยวิธีต่างๆ จะช่วยลดอัตราตายของผู้ป่วยที่มีภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดในปอด
1. การบันทึกภาพรังสีหลอดเลือดดำ
ถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยภาวะหลอดเลือดดำลึกมีลิ่มเลือด และการบันทึกภาพรังสีหลอดเลือดแดงในปอด ถือเป็นมาตรฐานในการวินิจฉัยภาวการณ์มีสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดในปอด
การตรวจทั้งการบันทึกภาพรังสีหลอดเลือดดำและการบันทึกภาพรังสีหลอดเลือดแดงในปอดนั้น ต้องมีการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือดผู้ป่วย เพื่อตรวจสอบบริเวณที่เกิดการอุดตัน ซึ่งนับเป็น “การตรวจแบบรุกราน” ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจ และมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ จึงไม่เป็นที่นิยมใช้ และมีความพยายามที่จะหาการตรวจที่ดีกว่าและปลอดภัยมาใช้แทน
2. การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง
การตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง เพื่อวินิจฉัย หรือวินิจฉัยแยกภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือด ใช้ร่วมกับการประเมินโดยแพทย์ จากอาการ หรืออาการแสดงที่ได้จากการซักประวัติและการตรวจร่างกาย เป็นการตรวจที่ปลอดภัยกว่า แต่ต้องอาศัยแพทย์ที่มีความชำนาญ
3. การตรวจเลือด
ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึก จะมีระดับของสารที่เรียกว่า “ดีไดเมอร์” เพิ่มสูงขึ้นในเลือด การตรวจเลือดเพื่อดูระดับ D-dimer มีประโยชน์ในการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึก หรือเพื่อตรวจดูว่าความเสี่ยงในการกลับเป็นซ้ำของภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึก
4. การตรวจภาพรังสีส่วนตัดอาศัยคอมพิวเตอร์ (CT scan)
หรือการตรวจภาพรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) สามารถแสดงบริเวณหลอดเลือดให้เห็นหลอดเลือด และแสดงให้เห็นถึงบริเวณที่เกิดลิ่มเลือดอุดตัน
สัปดาห์หน้ายังมีเรื่องราวของการรักษาและการป้องกันภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดตันหลอดเลือดดำ รอติดตามกันนะครับ
แหล่งข้อมูล
คู่มือความรู้ภาคประชาชนเรื่อง โรคหลอดเลือดดำ โดย ศ. นพ.จุมพล วิลาศรัศมี ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล