เช็กอาการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ แบบไหนต้องระวังเป็นพิเศษ
ไทยรัฐออนไลน์
21 พ.ค. 2565 21:15 น.
ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ที่เริ่มกลับมาระบาดในช่วงนี้ สามารถป้องกันได้โดยใช้วิธีเดียวกับการป้องกันโควิด-19 รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องระวังอาการไม่พึงประสงค์ และการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยสังเกตอาการหลังรับวัคซีน 30 นาที ซึ่งอาการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ
- อาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนที่ไม่รุนแรง หรือผลข้างเคียงที่พบบ่อย มีประมาณ 1-10 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ อาการเฉพาะที่ เช่น ปวด บวม แดง เจ็บบริเวณที่ฉีด อาการ ทั่วไป เช่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ ส่วนใหญ่หายเองภายใน 1-3 วัน และสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการประคบเย็นบริเวณที่ฉีด หรือรับประทานยาแก้ปวดลดไข้ อย่าง พาราเซตามอล
- อาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนที่รุนแรง หรือผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เป็นอาการที่พบได้น้อยมาก ได้แก่ อาการแพ้อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) จะเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที ถึง 2-3 ชั่วโมงหลังจากได้รับวัคซีน โดยมีอาการผื่นลมพิษขึ้นตามตัว คันที่ผิวหนัง บวมรอบดวงตา หรือริมฝีปากหรือตามหน้า และลำคอ หายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก วิงเวียน ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นลม เหงื่อออกมาก ชีพจรเบา ช็อก เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่าพบอาการทางระบบประสาทและสมอง เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปากเบี้ยวหน้าเบี้ยว อาการตัวอ่อน ด้วยเช่นกันแต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ประมาณ 1 ในล้านเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพบว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงหรือมีอาการทางระบบประสาทและสมองควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อประเมินอาการและทำการรักษาให้ทันท่วงที
คนกลุ่มไหนที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
สำหรับคนกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามคำแนะนำของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แบ่งออกเป็น 7 กลุ่มด้วยกัน
- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน (2 ปี 11 เดือน 29 วัน)
- ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
- บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
- โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
บุคคลที่ห้ามฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการฉีดวัคซีนจะเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันที่ได้ผลดี แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ โดยกลุ่มคนที่มีอาการต่อไปนี้ไม่ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- ผู้มีประวัติแพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรง
- เคยแพ้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่รุนแรง หรือแพ้สารประกอบอื่นๆ ในวัคซีนอย่างรุนแรง
- กำลังมีไข้หรือกำลังเจ็บป่วยเฉียบพลัน
- เพิ่งหายจากการเจ็บป่วยเฉียบพลันมาไม่เกิน 7 วัน
- เพิ่งนอนรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลไม่เกิน 14 วัน
- มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่มีอาการกำเริบ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น หอบเหนื่อย หรือยังควบคุมอาการของโรคไม่ได้
- หากกำลังตั้งครรภ์ มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง หรือเคยมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์
อ้างอิงข้อมูล : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข