หลังจากที่ได้รู้จักสาเหตุ อาการ ภาวะแทรกซ้อน และการรักษาโรคพาร์กินสัน (รู้จัก “พาร์กินสัน โรคที่มีมากกว่าอาการสั่น” (ตอน 1)) โดยใช้ยา การรักษาโดยไม่ใช้ยาโดยการผ่าตัดในสัปดาห์ที่แล้ว สัปดาห์นี้ยังมีเรื่องของ “การออกกำลังกายในผู้ป่วยพาร์กินสัน” มาฝากกัน
การออกกำลังกายในผู้ป่วยพาร์กินสัน จะได้รับการดูแลโดยแพทย์และทีมสหวิชาชีพของเวชศาสตร์ฟื้นฟู ประกอบด้วยนักกายภาพ นักกิจกรรมบำบัด พยาบาล นักกายอุปกรณ์ และนักสังคมสงเคราะห์ โดยจะเริ่มจากการประเมินและปรับโปรเเกรม ให้เหมาะสมกับอาการและระยะของตัวโรคในผู้ป่วยแต่ละราย มีหลักการรวมๆคือ เน้นการเคลื่อนไหวเป็นจังหวะที่ช้าๆ กว้างๆ ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ แบ่งออกเป็น
การออกกำลังกายเพื่อฝึกการเคลื่อนไหว ในผู้ป่วยที่มีปัญหาการเดิน การก้าวขา เป็นการฝึกให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหว ก้าวขากว้างๆ ช้าๆ เป็นจังหวะ เพิ่มระยะในการมีความคล่องตัวในการก้าวเดินมากขึ้น การขยับของแขน หัวไหล่ ให้มีการทำงานได้คล่องมากขึ้น รวมไปถึงการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ เพื่อลดการเกร็ง หรือความตึงของกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เคลื่อนไหวได้ลำบาก รวมถึงใช้พลังงานในการขยับมากขึ้น
การออกกำลังกายเพื่อฝึกการทรงตัว หรือ balance training จะช่วยเพิ่มความมั่นคงในการทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น การฝึกการทรงตัวของกล้ามเนื้อหลัง และหน้าท้อง เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลัง และเชิงกราน รวมถึงการทรงตัวในการเปลี่ยนท่าจากลุกนั่งเป็นยืน การยืนทรงตัว เดินในทิศทางต่างๆ เช่น การเดินด้านข้าง ช่วงเลี้ยวหรือเปลี่ยนทิศทาง ให้ทำได้มั่นคงมากขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม
...
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของปอด ในผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการหลังค่อม ทำให้พื้นที่ปอดลดลง การขยายของตัวปอดไม่ค่อยดี การออกกำลังกายโดยท่ายืดอก เพิ่มการขยายของกล้ามเนื้อทรวงอก รวมถึง การเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลังส่วนบน สะบัก การฝึกกล้ามเนื้อหายใจ จะส่งผลให้ผนังทรวงอกขยายได้ดีขึ้น เวลาหายใจก็สามารถรับออกซิเจนเข้าไปในปอดได้ดีขึ้น
การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความทนทานของร่างกาย ทำได้หลากหลายตามความสามารถของร่างกายผู้ป่วย เช่น เดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน จะช่วยให้ระบบการทำงานของหัวใจ ปอด และการไหลเวียนโลหิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีการดูแลผู้ป่วยพาร์กินสันในด้านอื่นๆ อีก ดังนี้
การฝึกกลืน โดยนักกิจกรรมบำบัด เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมีการขยับกล้ามเนื้อลิ้น และกล้ามเนื้อการกลืน ที่เคลื่อนไหวได้ช้าลง มีความเสี่ยงต่อการสำลักอาหารได้ จำเป็นต้องมีการฝึกกล้ามเนื้อให้กลืนเป็นจังหวะที่ถูกต้อง การเคี้ยวอาหารที่ละเอียดก่อนกลืน รวมถึงพิจารณาปรับสูตรและชนิดของอาหารที่เหมาะสม รวมไปถึงการฝึกพูด ในกรณีที่มีอาการพูดรัว พูดได้คำสั้นๆ โดยการฝึกให้ออกเสียง การพูดช้าๆ ชัดๆ และออกเสียงให้ดัง การฝึกให้ร้องเพลง เป็นต้น ร่วมกับนักแก้ไขการพูด
การฝึกสมอง จะช่วยชะลอความจำที่ค่อยๆ ถดถอยของผู้ป่วยให้ช้าลง โดยผู้ดูแลควรมีการสื่อสารหรือทำกิจกรรม ร่วมกับผู้ป่วยให้มากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมีปัญหาด้านการพูด พูดช้า ออกเสียงไม่ชัด ทำให้ผู้ฟัง ผู้ดูแลไม่เข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร จึงอาจสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ดูแล หรือผู้ป่วยเอง เกิดความหงุดหงิดที่ผู้ฟังไม่เข้าใจ ทำให้ผู้ป่วยยิ่งไม่ค่อยพูด ไม่ได้สื่อสารกับใคร ก็จะยิ่งทำให้ไม่ได้ใช้สมอง กล้ามเนื้อในการพูดก็ไม่ได้ใช้ ความคิดก็จะยิ่งช้า ก็จะยิ่งทำให้อาการแย่ลงไปเรื่อยๆ แนวทางการรักษา นอกจากการฝึกออกเสียง ฝึกพูด ยังมีการใช้ช่องทางการสื่อสารอื่นๆ เช่น การใช้บัตรคำ รูปภาพ ไปจนถึงแอปพลิเคชัน
การดูแลด้านจิตใจ ในผู้ป่วยพาร์กินสันบางราย เริ่มมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้าได้ เป็นอีกประเด็นที่ควรให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการดำเนินโรค แนวทางปฏิบัติ แก่ผู้ป่วย ครอบครัว
นอกจากนี้ ยังมีการเยี่ยมบ้าน ทำความเข้าใจสภาวะแวดล้อมของผู้ป่วย ครอบครัว โดยทีมพยาบาลและนักสังคมสงเคราะห์ รวมถึงการทำกายอุปกรณ์ เช่น ปรับรองเท้าในรายที่จำเป็น
คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย
หากสังเกตว่าผู้สูงอายุมีอาการของโรคพาร์กินสัน ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เพราะหากสามารถวินิจฉัยได้เร็ว ก็จะให้การรักษาได้อย่างรวดเร็ว ลดปัญหาที่ตามมาจากอาการเคลื่อนไหวช้าได้ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีผลกระทบอื่นๆ ตามมาได้ เช่น ล้ม การออกกำลังกาย ก็จะมีส่วนช่วยสำคัญในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน รวมถึงในระยะแรกของการเจ็บป่วย การออกกำลังกายที่เหมาะสม จะช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้ ลดการเกร็งหรือตึงของกล้ามเนื้อ หากเริ่มฝึกตั้งแต่ระยะแรกที่ทราบว่าเป็นพาร์กินสัน จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า การเริ่มในระยะกลางหรือท้ายของตัวโรค
...
การป้องกัน
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน การป้องกันจึงไม่สามารถทำได้ และยังไม่มีการป้องกันใดๆ ที่จะช่วยชะลอไม่ให้เซลล์ประสาทเสื่อมได้ ส่วนการออกกำลังกาย เป็นเรื่องสำคัญในผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมิน และให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการออกกำลังกายของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง
นอกจากนี้ หากตัวโรคดำเนินมาถึงระยะกลางหรือระยะท้ายแล้ว ปัจจุบันก็มีนวัตกรรมสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน ซึ่งจะกล่าวถึงในสัปดาห์หน้า
_____________________________________________________
แหล่งข้อมูล
อ. นพ.พิเชฐ เติมสารทรัพย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ และ อ. พญ.พีรยา รุธิรพงษ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล