“การบาดเจ็บที่ศีรษะ (Traumatic Brain Injury)” หมายถึง การบาดเจ็บที่เกิดจากแรงภายนอกมากระแทกโดยตรงต่อศีรษะ เกิดอันตรายได้ตั้งแต่หนังศีรษะภายนอกสุด ไปจนถึงก้านสมอง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดรอยช้ำ การฉีกขาด เลือดออกภายในสมอง หรือสมองทำงานผิดปกติ เช่น ระดับความรู้สึกตัวลดลง จำเหตุการณ์ไม่ได้ สูญเสียการทรงตัว หรือพบความผิดปกติจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นต้น
สาเหตุ
การบาดเจ็บที่ศีรษะ เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญของประชากรทั่วโลก เนื่องจากส่งผลให้เกิดความพิการ และการเสียชีวิตในกลุ่มประชากรวัยหนุ่มสาว ผู้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมโลก ในปี 2563 มีการรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บที่ศีรษะทั่วโลกมากถึง 10,000,000 ราย โดยประมาณ และยังพบว่าการบาดเจ็บที่ศีรษะมีจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากอุบัติเหตุจากการจราจร (road traffic injury) เช่น อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ รถยนต์ชนคนเดินเท้า เป็นต้น
สาเหตุที่พบได้บ่อยรองลงมา คือ การตกจากที่สูง หรือพลัดตกหกล้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและผู้สูงอายุ สำหรับการใช้ความรุนแรง การทำร้ายร่างกาย หรืออุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา เป็นสาเหตุที่อาจพบได้ไม่บ่อยในผู้บาดเจ็บที่ศีรษะ
อันตรายและความรุนแรง
การบาดเจ็บที่ศีรษะอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะชั้นนอกสุด ตั้งแต่หนังศีรษะไปจนถึงเนื้อสมอง เช่น สามารถพบบาดแผลฉีกขาด บวม ช้ำ ของหนังศีรษะได้ หรืออาจมีเลือดออกในชั้นใต้หนังศีรษะ แม้ไม่มีการฉีกขาดภายนอกที่มองเห็นได้ชัดเจน หรือกะโหลกศีรษะแตกร้าว เนื้อสมองฟกช้ำ เลือดออกในสมอง หรือเลือดออกบริเวณเยื่อหุ้มสมองได้ หากผู้บาดเจ็บที่ศีรษะไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง หรือไม่ได้รับการรักษาที่รวดเร็วตั้งแต่ก่อนถึงโรงพยาบาล อาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง ซึ่งสามารถทำให้ผู้บาดเจ็บมีโอกาสพิการและเสียชีวิตได้ในที่สุด
...
การบาดเจ็บที่ศีรษะสามารถแบ่งประเภทความรุนแรง ตามอาการของผู้บาดเจ็บ ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บาดเจ็บที่ศีรษะเล็กน้อย ผู้บาดเจ็บที่ศีรษะปานกลาง และผู้บาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรง โดยผู้บาดเจ็บที่ศีรษะส่วนมากจะมีอาการไม่รุนแรง จัดอยู่ในกลุ่มบาดเจ็บที่ศีรษะเล็กน้อย สำหรับประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องแยกความรุนแรงของผู้บาดเจ็บที่ศีรษะ
อาการสำคัญที่ควรรีบมาพบแพทย์
ผู้บาดเจ็บที่ศีรษะ อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของสมองร่วมด้วย ส่งผลให้การทำงานของสมองผิดปกติ ร่วมกับอาจพบความผิดปกติของระบบประสาทร่วมด้วย หากผู้บาดเจ็บมีอาการดังต่อไปนี้ ให้สงสัยว่าผู้บาดเจ็บมีการทำงานของสมองผิดปกติ เช่น ระดับความรู้สึกตัวลดลง หมดสติชั่วคราว สูญเสียความทรงจำหลังเกิดเหตุการณ์ ปวดศีรษะ อาเจียนพุ่ง ชา อ่อนแรง การมองเห็นลดลง เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้บาดเจ็บที่อายุมากกว่า 60 ปีทุกราย จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับบาดเจ็บทางระบบประสาทและสมอง ผู้ที่สงสัยว่ามีการบาดเจ็บที่สมอง ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมและการรักษาอย่างทันท่วงที หากผู้บาดเจ็บมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ หรือสามารถโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669
การรักษา
จากที่กล่าวไปข้างต้น การบาดเจ็บที่ศีรษะสามารถจำแนกความรุนแรงตามอาการของผู้บาดเจ็บออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการบาดเจ็บ การรักษาผู้บาดเจ็บที่ศีรษะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะหลัก ได้แก่ การรักษาในภาวะฉุกเฉิน และการรักษาที่จำเพาะเจาะจง
การรักษาในภาวะฉุกเฉิน เป็นการรักษาภาวะที่จะทำให้ผู้บาดเจ็บเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มผู้บาดเจ็บที่มีอาการรุนแรง การรักษาจะเน้นการให้ออกซิเจนและการดูแลระบบไหลเวียนโลหิต เช่น การให้น้ำเกลือ เพื่อคงความดันเลือด และเพิ่มออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง หากสมองขาดออกซิเจนจะส่งผลให้ผู้บาดเจ็บมีอาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว และผู้บาดเจ็บที่ศีรษะหลายรายเกิดจากกลไกการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ มักมีการบาดเจ็บของอวัยวะอื่นร่วมด้วย การรักษาต้องรักษาในทุกระบบของร่างกาย ไม่เพียงแต่รักษาการบาดเจ็บของสมอง เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตของผู้บาดเจ็บที่ศีรษะ
การรักษาที่จำเพาะเจาะจง คือ นำผู้บาดเจ็บเข้าห้องผ่าตัดเพื่อรับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นการรักษาความผิดปกติที่ตรวจพบจากการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เช่น การผ่าตัดเพื่อระบายเลือดในช่องเยื่อหุ้มสมอง หรือการผ่าตัดเพื่อลดแรงดันในกะโหลกศีรษะ เป็นต้น
...
สัปดาห์หน้ายังมีความรู้เรื่องคำแนะนำในการดูแลผู้บาดเจ็บที่ศีรษะ วิธีปฏิบัติตนเมื่อได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ และการป้องกัน รอติดตามกันนะครับ
@@@@@@@@@@
แหล่งข้อมูล
รศ.ดร.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น และนายสรวิชญ์ วัชรกิจไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล